“วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบต่อไปในภายหน้า”พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จมาเปิดโรงเรียนนายเรือ ทางราชการทหารเรือ จึงได้ถือเอาวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น”วันกองทัพเรือ”

ในสมัยก่อนยังไม่มีการแบ่งแยกกำลังการรบทางเรือออกจากทางบก กระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแบ่งแยกกำลังรบทั้งสองฝ่ายออกจากกันและทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรมทหารเรือขึ้น ในสมัยนั้นยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะ จึงจำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการในตำแหน่งต่าง ๆอาทิ ผู้บังคับการเรือ ผู้บัญชาป้อมต่าง ๆเนื่องจากสมัยก่อนราชนาวีไทยยังไม่มีนายทหารเรือไทยที่สามารถเดินเรือ หรือนำเรือออกสู่มหาสมุทรได้ ซึ่งชาวต่างประเทศเหล่านี้มิได้สอนหรือถ่ายทอดความรู้ใด ๆ แก่ลูกเรือไทย คงเพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ไปเท่านั้น เมื่อเกิดศึกสงครามกับชาติตะวันตกด้วยกัน ก็มักทำการสู้รบไม่เต็มที่ กองทัพเรือสยามจึงไม่สู้มีความมั่นคงเท่าใดนัก

ภายหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงว่า ทหารจากต่างประเทศที่เข้ามาประจำตำแหน่งต่าง ๆ อาจจะมีกำลังไม่มากพอที่จะรักษาอธิปไตยของชาติได้ และอาจจะรักษาได้ไม่ดีเท่าคนไทยด้วยกันเอง จึงทรงมีพระประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทย เพื่อให้มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะทำหน้าที่ต่าง ๆ แทนชาวต่างชาติได้ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรส เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังประเทศอังกฤษซึ่ง

ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง ๑๓ พรรษา แต่ด้วยน้ำพระทัยแข็งแกร่ง ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่และมั่นคงในการที่จะนำความรู้ด้านการทหารเรือสมัยใหม่มาพัฒนากองทัพเรือของไทยให้เข้มแข็งและสามารถต่อสู้ป้องกันตนเองให้พ้นจากภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจที่มักจะรุกล้ำอธิปไตยของสยามอยู่เป็นประจำการเข้าศึกษาวิชาการทหารเรือในประเทศอังกฤษนั้นต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ นับแต่ข้อกำหนดซึ่งห้ามนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาในโรงเรียนนายเรือของราชนาวีอังกฤษด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง แต่ก็มิได้ทำให้พระองค์ทรงย่อท้อ ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารเรือในโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการทหารเรือที่แข็งแกร่ง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เข้ารับการฝึกเป็นนักเรียนทำการนายเรือ(Midshipman) ในเรือรบอังกฤษ

หลังจากเสด็จกลับเมืองไทยทรงมีความตั้งพระทัยในอันที่จะพัฒนากองทัพเรือไทยให้สามารถเกรียงไกรเทียบเท่าอารยประทศจะทรงเห็นว่ากิจการของทหารเรือไทยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝรั่งต่างชาติที่ว่าจ้างให้มาเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารเรือสมัยใหม่ แต่ทรงพบว่าฝรั่งผู้ปฏิบัติงานขาดความตั้งใจจริงในการพัฒนากองทัพเรือให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ กองทัพเรือจึงยังมิได้รับการวางรากฐานอย่างมั่นคง หลักสูตรการสอนนักเรียนนายเรือต่ำ เมื่อเรียนจบหลักสูตรก็ยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่สามารถใช้อาวุธสมัยใหม่ได้ โดยเฉพาะทหารเรือในขณะนั้นเป็นหน่วยทหารที่มีศักดิ์ศรีต่ำกว่าทหารหน่วยอื่น จึงมักถูกนำไปใช้ในงานโยธา ไม่ใคร่มีโอกาสที่จะเรียนรู้วิชาการ เมื่อทรงมีโอกาสได้เข้าบริหารงาน จึงโปรดปรับปรุงกองทัพเรือใหม่ในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การวางหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ โดยเพิ่มวิชาที่จำเป็นสำหรับทหารเรือที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้อย่างเข้มข้น ยกระดับทหารเรือให้สูงขึ้นโดยเน้นหนักด้านวิทยาการสมัยใหม่ โดยจัดการศึกษาทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีกระบวนรบในกองทัพเรือตามแบบยุโรป ทรงให้กำเนิดโรงเรียนนายเรือและนายช่างกลขึ้น ทรงเป็นนายทหารเรือคนแรกที่นำนักเรียนนายเรือไปฝึกหัดในต่างประเทศ แต่ถึงกระนั้นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทรงพบคือการที่ไม่มีผู้นิยมสมัครเข้าเป็นทหารเรือ อันเป็นธรรมชาติของผู้ที่มิได้อยู่ใกล้ทะเล โปรดแก้ปัญหาด้วยการให้เงินเดือนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนและเพิ่มเงินให้ตามชั้นที่สูงขึ้น ทำให้เริ่มมีผู้สมัครเรียนเพิ่มขึ้น แต่นักเรียนส่วนใหญ่มักเป็นคนยากจนและนักเลงที่หวังเงินเดือน แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนแล้วทรงมีวิธีการผูกใจนักเรียนให้ตั้งใจเรียน รักและภาคภูมิใจในสถาบันที่เรียน โดยใช้ความจริงพระทัยจริงจังในการถ่ายทอดวิชาความรู้ ปลูกฝังความรู้สึกรักและภาคภูมิใจในกองทัพเรือ