๒. รักษาความสงบเรียบร้อยภายใน
๒.๑ ช่วยเจ้าหน้าที่รักษาความสงบทั่วไป
๒.๒ ช่วยเหลือเวลาเกิดเพลิงไหม้
๒.๓ ล้อมวังรักษาพระองค์
๒.๔ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
ทั้งนี้ ทรงมีพระราชดำรัสในการขนานนามของหน่วยเสือป่า โดยทรงอ้างอิงจากแนวทางการป้องกันประเทศและแนวทางทางทหารในสมัยโบราณ กล่าวคือ
“เป็นชื่อเก่าที่มีปรากฏได้ใช้มาในเมืองเราแต่โบราณกาล มีทหารโบราณจำพวกหนึ่ง เรียกว่า เสือป่า คู่กับ แมวเซาหรือแมวมอง ตรงกับที่ในกองทัพบกทุกวันนี้เรียกว่า“ผู้สอดแนม” หรือเรียกตามภาษาอังกฤษว่า“สเค๊าท” (scott) ส่วนแมวเซาหรือแมวมองนั้น เรียกว่า “กองระวังด่าน” หรือเรียกตามภาษาอังกฤษว่า “เอ๊าตโป๊สต์” (outpost)…”
นอกจากนี้ ยังทรงมีพระราชปรารภในการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น ที่มีการบันทึกความบางตอนไว้ใน จดหมายเหตุเสือป่า พุทธศักราช๒๔๕๔ กล่าวคือ
“…มีพลเรือนบางคนที่เป็นข้าราชการและที่มิได้เป็นข้าราชการ มีความปรารถนาจะได้รับความฝึกหัดอย่างทหาร แต่ยังมิได้มีโอกาสฝึกหัด เพราะติดหน้าที่ราชการเสียบ้าง หรือเพราะติดธุระอย่างอื่นเสียบ้าง การฝึกเป็นทหารนั้นย่อมมีคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองอยู่หลายอย่างที่เป็นข้อใหญ่ข้อสำคัญก็คือกระทำให้บุคคลซึ่งได้รับความฝึกฝนเช่นนั้นเป็นราษฎรดีขึ้น กล่าวคือ ทำให้กำลังกายและความคิดแก่กล้าในทางที่เป็นประโยชน์ ด้วยเป็นธรรมดาของคน ถ้าไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดบังคับให้ใช้กำลัง และความคิดของตนแล้วก็มักจะกลายเป็นคนอ่อนแอไป
อีกประการหนึ่ง การฝึกหัดเป็นทหารนั้นทำให้คนรู้วินัย คือฝึกหัดตนให้อยู่ในบังคับบัญชาของผู้ที่เป็นหัวหน้าฤานายเหนือตน ซึ่งนำประโยชน์มาให้แก่ตนเป็นอันมาก เพราะว่าถ้ารู้จักเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาดี ต่อไปก็จะเป็นคนบังคับบัญชาคนได้ดี จะเป็นนายที่รู้จักน้ำใจผู้น้อย ทั้งเป็นทางสั่งสอนอย่างหนึ่งให้คนมีความยำเกรง ตั้งอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายของประเทศบ้านเมือง ทั้งจะปลุกใจคนให้มีความรู้สึกรักพระเจ้าแผ่นดิน ชาติและศาสนา จนยอมสละชีวิตถวายพระเจ้าแผ่นดินฤาเพื่อป้องกันรักษาชาติศาสนาของตนได้…”
อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยของพระองค์ ได้ประสบเหตุการณ์ที่สำคัญของโลกเหตุการณ์หนึ่ง คือ สงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีการจัดหน่วยเสือป่าขึ้นใหม่ เป็นจำนวน ๒ กอง ประกอบด้วยกองเสือป่าหลวง (หรือกองเสือป่ารักษาพระองค์) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “กองเสนาหลวงรักษาพระองค์” และ กองเสือป่ารักษาดินแดน โดยมีการจัดหน่วยด้วยการแบ่งออกเป็น ๔ ภาค กำหนดหน้าที่รักษาดินแดนในแต่ละกลุ่มจังหวัด จึงเป็นต้นแบบของตำรวจตระเวนชายแดนในเวลาต่อมา ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน๒๔๖๘ กิจการเสือป่าจึงได้ยุติลงชั่วคราว แต่หากพิจารณาแล้ว จะพบว่าหน้าที่ของเสือป่าคือ ภารกิจของชาวไทยตามพระราชประสงค์ที่จะฝึกอบรมพลเมืองไทยให้มีความรู้ความเข้าใจวิธีการรักษา ป้องกันประเทศชาติ บ้านเมือง พร้อมกับตระหนักรู้และมีความเข้าใจในหน้าที่กับบทบาทของแต่ละคนว่า ควรทำ อะไรอย่างไร ในเหตุการณ์ใดบ้าง
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดหน้าที่ในอันที่จะนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เพื่อช่วยป้องกันรักษาชาติบ้านเมืองได้ทันเวลา ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว ประเทศของเราต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในยุคล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะความทรงจำต่อกรณี วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ที่ยังคงเป็นบาดแผลอันใหญ่หลวงในจิตใจของประชาชนทุกคน ดังนั้น แนวพระราชดำริการตั้งกองเสือป่าที่จัดได้ว่าเป็นการจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดนหรือกองกำลังอาสาสมัครฝ่ายพลเรือน จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยลดช่องว่างทางการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกิจการเสือป่ากระจายออกไปทั่วประเทศ ก็จะทำให้มีกองกำลังนักรบประชาชนที่ผันกายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งยังมีความชำนิชำนาญในท้องถิ่นที่ตนเองประจำการอยู่ จึงเป็นการป้องปรามและป้องกันภัยร้ายข้าศึกในทุกพื้นที่ของประเทศอย่างดียิ่ง และถือเป็นต้นแบบแห่งกำลังสำรองของประเทศไทย
ต่อมา ในยุคภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งเป็นห้วงแห่งการเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องมีกำลังสำรองไว้สำหรับการป้องกันประเทศและรักษาความมั่นคงของชาติจึงเกิดแนวความคิดที่จะสร้างอนุชนรุ่นใหม่ให้เป็นพลเมืองที่มีศักยภาพในด้านการปฏิบัติการทางทหาร โดยการฝึกฝนทักษะทางทหาร พัฒนาจิตใจให้มีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ สำนึกในหน้าที่สำนึกในบุญคุณของแผ่นดิน และพร้อมที่จะเผชิญปัญหาด้านความมั่นคงอย่างไม่เกรงกลัวสิ่งใด กอปรกับพึงต้องมีการเตรียมพลเพื่อขยายกำลังรบในยามสงคราม จึงมีการดำเนินกิจการของยุวชนทหารขึ้น และในที่สุดก็เลิกร้างไปภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ กระทรวงกลาโหมได้ตระหนักถึงความจำเป็นในด้านการเตรียมกำลังสำรองของประเทศที่ยังคงต้องมีอยู่เพื่อเตรียมการรับสถานการณ์ความมั่นคง จึงได้มีการตรา พระราชบัญญัติจัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๔๙๑ จัดตั้งกรมการรักษาดินแดน โดยให้เป็นหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อทำการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร สำหรับเป็นกำลังสำรองในการทดแทนยุวชนทหารตามแนวคิดที่จะให้มีการฝึกวิชาทหารให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการเตรียมการด้านกำลังพลสำหรับสงครามในอนาคต โดยเริ่มต้นฝึกผู้ที่จะมาเป็นผู้บัญชาการก่อน หลังจากนั้น ก็จะทำการแยกย้ายฝึกพลเมืองต่อไป จึงเกิดเป็นกิจการนักศึกษาวิชาทหารเป็นครั้งแรก โดยมีที่ตั้งหน่วยครั้งแรกอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ท่าพระจันทร์ ซึ่งต่อมา ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๘ ได้ย้ายที่ตั้งหน่วยมายังพื้นที่มายังบริเวณสวนเจ้าเชตุ บริเวณตรงข้ามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เลขที่ ๒ ถนนเจริญกรุง อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยในปัจจุบันและได้ดำเนินกิจการเรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน โดยที่กิจการนักศึกษาวิชาทหารได้มีการพัฒนาตามลำดับ และมีเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษาสมัครเข้ารับการฝึกศึกษาหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารอย่างต่อเนื่องมาตราบจนปัจจุบัน
กิจการกำลังสำรองจึงเป็นกิจการที่เริ่มต้นจากแนวพระราชดำริพระราชทานขององค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือ องค์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ที่ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์อันยาวไกล ในการสร้างขุมกำลังสำคัญของประเทศโดยประชาชนที่มีความชัดเจนมากที่สุด ทั้งยัง จะเป็นทรัพยากรสำคัญในการช่วยเหลือและทดแทนกำลังทหารเพื่อการป้องกันประเทศและรักษาความมั่นคงของชาติตั้งแต่ยามปกติ ดังนั้น ในวันที่ ๒๕พฤศจิกายน ที่กำลังจะเวียนมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอเรียนเชิญทุกท่านได้กรุณาร่วมกันน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทยโดยพร้อมเพรียงกัน