เมื่อ 22 มี.ค.61 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม.และ รมว.กห. ได้ให้การต้อนรับ นาย Steve Trent ผู้อำนวยการบริหาร Environmental Justice Foundation : EJF จากสหภาพยุโรปและคณะ ณ ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อหารือและรับทราบความคืบหน้า การขับเคลื่อนแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU

พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวขอบคุณ EJF ที่สนับสนุนไทยในการทำงานแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎมายมาอย่างต่อเนื่อง และแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญด้านต่างๆ เช่น การจัดการกองเรือไทย ซึ่งปัจจุบันได้จดทะเบียนควบคุมเรือประมงทุกลำเกือบสมบูรณ์แล้ว  การเพิ่มประสิทธิภาพระบบติดตามควบคุมและเฝ้าระวังการกระทำผิดในน่านนำ้ ด้วยการเพิ่มบุคลากรและนำอากาศยานไร้คนขับเฝ้าตรวจ  นอกจากนั้น ได้เพิ่มความเข้มบังคับใช้กฎหมายและเร่งความคืบหน้าตัดสินคดีที่เกี่ยวข้อง โดยจัดตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อพิจารณาคดีภายใต้ศาลอาญา

พร้อมทั้ง ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะล่าสุดของ EJF ในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น การพัฒนากรอบกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างร่างกฎหมาย เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO  และได้ปรับแก้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยประกาศให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาจดทะเบียนให้เสร็จสิ้นภายใน 31 มี.ค.61  รวมถึงเร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย.61 นอกจากนั้น ได้พัฒนาระบบจ่ายค่าแรงประมงผ่านบัญชีธนาคาร โดยบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนแรงงานผ่านบัญชีธนาคาร ผ่านสัญญาจ้างแล้ว เพื่อให้แรงงานได้รับความเป็นธรรม

ทั้งนี้ จะได้ขับเคลื่อนติดตามการดำเนินงานต่อเรื่องดังกล่าวให้มีความต่อเนื่อง เพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลร่วมกันและพัฒนาการทำประมงของไทยให้ถูกต้องและยั่งยืน  พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะผลักดันบทบาทนำการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU ในกรอบอาเซียน โดยเสนอให้ EJF เข้ามามีส่วนร่วมด้วย  และกล่าวขอความร่วมมือ EJF ในสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ไทยสามารถปลดใบเหลืองได้โดยเร็ว และสามารถยกระดับความร่วมมือกับ EJF ในการทำงานร่วมกันสู่ภูมิภาคต่อไป

นาย Steve และคณะ EJF  ได้กล่าวขอบคุณ รัฐบาลไทย ที่ให้ความสำคัญและเห็นถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU และกล่าวชื่นชม พล.อ.ประวิตร ที่ริเริ่มและช่วยผลักดันขับเคลื่อนแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตลอด  โดยเห็นถึงความพยายามและพัฒนาการของการแก้ปัญหาการทำประมงของไทยที่ผ่านมาอย่างมาก แม้จะมีปัญหาบ้าง แต่ในระยะยาวจะเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงและลูกหลาน ซึ่งจะมีทรัพยากรทางทะเลใช้ร่วมกันอย่างยั่งยืน  พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่า ความพยายามอย่างหนักของไทย จะเป็นตัวอย่างที่นานาชาติสามารถนำไปเป็นแนวทางแก้ปัญหาการทำประมง IUU และอยากเห็นไทยมีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียนและทำงานร่วมกับ EU ในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU ต่อไป

001_resize 002_resize 003_resize