กระทรวงกลาโหมกับกิจการอวกาศ (Ministry of Defence and Space Affairs)

(พลเอก ฤทธี  อินทราวุธ)

การพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทย ประกอบด้วย การพิจารณาและการปรับปรุงแนวทาง การพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทย การจัดทำโปรแกรมอวกาศแห่งชาติ ตลอดจนพิจารณาการดำเนินโครงการดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา โดยมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานหลัก ในการพัฒนากิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง ตามแนวทางการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายให้ใช้อวกาศเป็นพื้นที่ปฏิบัติการด้านความมั่นคง เพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติ บูรณาการและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อความมั่นคงและสามารถพัฒนาสู่การพึ่งพาตนเอง ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศเพื่อความมั่นคงอย่างพอเพียง[๑]

เทคโนโลยีกิจการด้านอวกาศเพื่อความมั่นคงกระทรวงกลาโหมได้มีแนวความคิดในการพัฒนาด้านกิจการอวกาศมาอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง เช่น การสังเกตการณ์ห้วงอวกาศ การตรวจการณ์ทางอวกาศการสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งสามารถสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงของเหล่าทัพ ทั้งการปฏิบัติการภายในประเทศ และการปฏิบัติการร่วม/ผสมกับต่างประเทศอย่างสมบูรณ์และไร้ขีดจำกัด โดยกระทรวงกลาโหม ได้เคยมีหน่วย ศูนย์พัฒนากิจการอวกาศกลาโหม ( ศพอ.กห.) ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๓๙ และต่อมาได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยและเปลี่ยนชื่อนามหน่วยเป็น กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม (ทสอ.กห.)[๒] เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ เพื่อรองรับเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังมีความสำคัญมากในขณะนั้น โดยยังคงมี กองกิจการอวกาศ ดูแลรับผิดชอบงานด้านกิจการอวกาศ ของกระทรวงกลาโหม

การประชุมสภากลาโหม เมื่อ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมาโดยมี พลเอก ประวิตร         วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ มีการนำเสนอแนวความคิดด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหมในที่ประชุม เพื่อนำไปสู่การเตรียมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๖๑ – ๒๕๗๐ โดยมีเป้าหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานหลักในการใช้เทคโนโลยีอวกาศด้านความมั่นคงของประเทศ และมีการกำหนดวิสัยทัศน์โดย กระทรวงกลาโหมเป็นองค์กรหลักด้านกิจการอวกาศ ที่มีศักยภาพในการเตรียมกำลัง ผนึกกำลัง และพัฒนาด้านกิจการอวกาศ เพื่อการป้องกันประเทศ[๓] โดยกำหนดพันธกิจ ด้านการพัฒนา เสริมสร้าง และบูรณาการขีดความสามารถด้านกิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ ตามยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม (พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) ด้วยการเตรียมกำลัง การผนึกกำลังและการพัฒนา และมีประเด็นยุทธศาสตร์ย่อย ประกอบด้วย

๑. การสร้างความพร้อมด้านกิจการอวกาศของหน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหม ให้สามารถนำเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจทางด้านความมั่นคงเพี่อการป้องกันประเทศ การพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติ รวมทั้งเพื่อการพัฒนาประเทศ และการช่วยเหลือประชาชน ทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติ

๒. การสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และบูรณาการทรัพยากรที่มี เพื่อให้กระทรวงกลาโหมมีศักยภาพด้านกิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ เมื่อได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและเมื่อถึงเงื่อนไขที่กำหนด เสริมสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ และรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ได้อย่างบังเกิดผลเป็นรูปธรรม

๓. การสร้างนวัตกรรม องค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านกิจการอวกาศ การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ให้ทันต่อภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และสถานการณ์ความมั่นคงของโลก  มีการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมอวกาศในการก้าวไปสู่กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ

กระทรวงกลาโหมได้มีการดำเนินการด้านกิจการอวกาศมาตามลำดับ โดยเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารกิจการอวกาศ พ.ศ.๒๕๕๒[๔] และประสานความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  หรือ GISTDA ในการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของโครงการดาวเทียมถ่ายภาพ ธีออส ๒ (THEOS-2)[๕] วงเงิน ๒,๘๐๐ ล้านบาท ที่จะส่งขึ้นไปทดแทนดาวเทียมธีออสหรือดาวเทียมไทยโชติ ที่ใช้งานมาแล้วกว่า ๑๐ ปี จำเป็นต้องมีดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปทดแทน เพื่อรักษาสิทธิวงโคจรให้มีความต่อเนื่องโดยคุณลักษณะเฉพาะหลักๆ ก็ยังเป็นดาวเทียมถ่ายภาพเช่นเดิม แต่สามารถนำเอามาเสริมหรือประยุกต์ใช้งานด้านความมั่นคงเพื่อการป้องกันประเทศ เช่น เฝ้าตรวจพื้นที่ชายแดนและน่านน้ำทะเลไทยได้ตามความต้องการของกองทัพ เพราะสามารถบังคับควบคุมวิถีวงโคจร และการบังคับมุมกล้องถ่ายภาพจากสถานีควบคุมดาวเทียมภาคพื้นดิน ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park)[๖] อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงกลาโหมจะมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเข้าร่วมการปฏิบัติงาน ณ สถานีควบคุมดาวเทียมภาคพื้นดิน ดังกล่าว

ส่วนที่มีกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า กระทรวงกลาโหมจะนำมาใช้เป็นดาวเทียมเพื่อความมั่นคง ในการสอดแนม ดักฟังหรือนำขีปนาวุธ นั้น เป็นเรื่องจินตนาการที่เกินความเป็นจริงสำหรับประเทศไทย ทั้งด้านกฎหมาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถึงแม้ว่าชั้นบรรยากาศระดับความสูงตั้งแต่ ๑๐๐ กิโลเมตรขึ้นไปทางสากลจะถือว่าเป็นพื้นที่ห้วงอวกาศเสรีที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่ดาวเทียมใช่ว่าใครจะนำไปใช้ทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ยกเว้นประเทศมหาอำนาจเท่านั้น ดาวเทียมทุกดวงที่จะขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศส่วนใหญ่จะต้องจ้างบริษัทต่างประเทศในการนำส่งทางจรวดซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทธุรกิจเอกชน หรืออาจจะถูกควบคุมตรวจสอบโดยหน่วยงานความมั่นคง ดาวเทียมทุกดวงจะต้องผ่านการตรวจคุณลักษณะเฉพาะของชิ้นส่วนวัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้น มีมาตรฐานสากลรับรองจากองค์การอวกาศรวมถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ถ้าชี้แจงไม่ชัดเจนไม่ผ่าน ตกคุณลักษณะเฉพาะ หรือตกมาตรฐานรับรองจากองค์การด้านอวกาศ เช่น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซ่า    (NASA) รวมทั้งถ้ามีส่วนใดส่วนหนึ่งใช้ในกิจการทางทหารติดขึ้นมา จะไม่สามารถนำส่งขึ้นอวกาศได้ เป็นกฎระเบียบของบริษัทเอกชนผู้ให้บริการส่งจรวต เช่นเดียวกับการส่งพัสดุภัณฑ์ทางไปรษณีย์ หรือพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ (Air cargo )

ประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ว่า กระทรวงกลาโหมจะนำดาวเทียมTHEIA มาทดแทนดาวเทียม THAICOM-4 ซึ่งจะหมดอายุการใช้งานในปี ๒๕๖๔ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะดาวทียมถ่ายภาพหรือดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก (Earth Observation Satellites)  กับดาวเทียมสื่อสาร (Communications Satellites) วิถีโคจรคนละแบบกัน โดยดาวเทียมสื่อสารเป็นดาวเทียมแบบค้างฟ้าที่โคจรไปพร้อมกับการหมุนของโลกเพื่อให้ตำแหน่งของดาวเทียมคงที่เหนือพื้นที่ให้การบริการสื่อสารโทรคมนาคม ส่วนดาวเทียมถ่ายภาพจะโคจรรอบโลกผ่านตำแหน่งเดิมวันละ ๑ ครั้งหรือมากกว่า ผ่านมาทีถึงจะถ่ายภาพได้ที หากจะใช้ดาวเทียม THEIA มาแทน THEOS-2 ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะโครงการดาวเทียม THEOS-2 เปิดประกาศ TOR ประกวดราคาเสร็จแล้ว และได้ทำสัญญาฯ ลงนามระหว่าง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กับ AIRBUS GROUP เมื่อ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๑ เพื่อให้สามารถใช้งานทดแทนดาวเทียม THEOS หรือ ไทยโชติ ซึ่งใช้งานมากว่า ๑๐ ปีแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ได้ทันตามกำหนดเวลา เพราะการส่งดาวเทียมจะต้องใช้เวลาการพัฒนาดาวเทียม รวมถึงการเตรียมการจองคิวปล่อยดาวเทียม ประมาณ ๓ – ๕ ปี และโครงการดาวเทียม THEIA ของบริษัทเอกชน เป็นเพียงดาวเทียมถ่ายภาพหรือดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลกที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สปท.) กำลังศึกษาความเหมาะสมร่วมกับหน่วยราชการอื่นๆ เพื่อนำมาใช้งานด้านการค้นหาแหล่งน้ำใต้ดิน บนดิน แหล่งพลังงานจากธรรมชาติเพื่อใช้ในการลงทุน งานด้านการขนส่ง งานด้านการประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยู[๗] จึงมีความเป็นไปได้ยากที่จะพัฒนาเป็นดาวเทียมจารกรรม[๘] (Reconnaissance Satellites) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจความละเอียดสูง หรือดาวเทียมสื่อสารที่ใช้เพื่อกิจการทางทหาร หรือการจารกรรม

ส่วนใครคิดจะมีดาวเทียมเพื่อความมั่นคงทางการทหาร เพื่อใช้สอดแนม เฝ้าฟัง ดักฟัง นำวิถีขีปนาวุธ หรือติดขีปนาวุธเพื่อการทำลายล้าง จะต้องมีศักยภาพด้านการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างสูง    ทั้งอุปกรณ์ดาวเทียม อุปกรณ์ทางทหารที่ใช้งานภายใต้สภาพไร้น้ำหนักหรือสุญญากาศ อุปกรณ์ควบคุมจากสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน รวมถึง จรวดนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่ชั้นอวกาศเอง เอาแค่พัฒนาขีดความสามารถในการบังคับควบคุมดาวเทียมให้อยู่ในวิถีวงโคจร และการบังคับมุมกล้องถ่ายภาพจากสถานีภาคพื้น แค่นี้ก็เก่งแล้ว ยิ่งการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรในการสร้างดาวเทียมของตนเองให้ใช้งานได้ยิ่งเก่งกว่า เพราะการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) ที่ได้มาจากโครงการดวงเทียมต่างๆ ของประเทศไทยที่ผ่านมา เป็นเพียงเปลือกนอกไม่ใช่แก่นของความลับทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีอวกาศหรือเทคโนโลยีดาวเทียมที่จะได้มาง่ายๆ ดังนั้นเราจึงควรมีนโยบายและกลไกขับเคลื่อนผลักดัน ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างแท้จริงให้เป็นรูปธรรม จนสามารถพัฒนาดาวเทียมด้วยตนเองได้เช่นเดียวกับการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศต่างๆ เพราะการพัฒนาดาวเทียมแม้จะเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก (Micro Satellites) หรือดาวเทียมขนาดจิ๋ว (Cube SAT) จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและกิจการอวกาศขั้นพื้นฐานที่ดีที่สุด ซึ่งจะต้องเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เรียนรู้จากความล้มเหลว      เพื่อพัฒนาไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน และถ้าเราสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างจรวดนำส่งอวกาศควบคู่กันไปจนประสบความสำเร็จ ถือเป็น สุดยอดของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านกิจการอวกาศ

234