หลักเมืองกันยายน 61_Page_53

New S-Curve ที่ ๑๑ หรืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทแตกต่างจากอุตสาหกรรมประเภทอื่นในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหลักประกันทางด้านความมั่นคงของประเทศ เพื่อเสริมสร้างความพร้อมรบของกองทัพด้านยุทโธปกรณ์ในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศ อีกทั้ง มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะเมื่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเป็นระบบ จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการสร้างบุคลากรที่มีทักษะสูงให้กับประเทศ

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป. เป็นหน่วยงานในรูปแบบองค์การมหาชนของกระทรวงกลาโหม ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนานวัตกรรมและดำเนินการอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สทป. ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ ๔ ด้าน คือ การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การพัฒนาความรู้และนวัตกรรมสู่ประชาสังคมการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ และการพัฒนาองค์กรเพื่อความยั่งยืนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี ภายใต้เป้าประสงค์การสนับสนุนให้กองทัพมีอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่จำเป็นในการต่อสู้ภัยคุกคามทุกรูปแบบ การรักษาดุลยภาพด้านความมั่นคงของรัฐ และวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศนำไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การดำเนินงานของ สทป. ยังมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ซึ่งระบุถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศโดยเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชนและมิตรประเทศในการสร้างองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์พร้อมทั้งส่งเสริมนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตามโมเดล ไทยแลนด์ ๔.๐ สทป. จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาในด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลได้จัดให้อยู่ในกลุ่มของอุตสาหกรรม New S-Curve ลำดับที่ ๑๑ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้น กลุ่มนี้มีความสามารถในการเติบโตต่อไปในอนาคตสูง

 

เทคโนโลยีเป้าหมายของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน)  

ตามแผนยุทธศาสตร์ที่ ๑ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดย สทป. เป็นกลไกขับเคลื่อนหลักให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งมีเทคโนโลยีเป้าหมาย ๕ เทคโนโลยี โดยมีผลงานเป็นรูปธรรมจากผลการดำเนินงาน ที่สนับสนุนงานด้านความมั่นคงและภาคประชาสังคม ดังนี้

๑. เทคโนโลยีจรวดและอาวุธนำวิถี : โดยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจรวดและอาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำสูง นอกจากจะใช้เพื่อป้องกันภัยภายนอกประเทศแล้ว ยังได้นำความรู้จากเทคโนโลยีดังกล่าวมาต่อยอดเป็นจรวดดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อช่วยในการทำฝนเทียมในโครงการวิจัยและพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมีประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรอีกด้วย

๒. เทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารทางทหาร : โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแบบรวมศูนย์และโปรแกรมประยุกต์ สำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนใต้

๓. เทคโนโลยีการจำลองยุทธ์และการฝึกเสมือนจริง : โครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องช่วยฝึกยานรบเสมือนจริง โครงการประยุกต์ใช้แผนที่สถานการณ์เพื่อจำลองภารกิจการช่วยเหลือทางทหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน

๔. เทคโนโลยียานไร้คนขับ : โครงการวิจัยและพัฒนาองค์ประกอบพื้นฐานระบบยานไร้คนขับและโครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด ที่ร่วมกันพัฒนากับทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ใช้งานทั้งในงานด้านความมั่นคงและในเชิงพาณิชย์

๕.เทคโนโลยียานรบและระบบอาวุธ : โครงการวิจัยและพัฒนาร่วมยานเกราะล้อยาง และโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมยานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน สำหรับสนับสนุนภารกิจของเหล่าทัพและเทคโนโลยีที่จะวิจัยและพัฒนาต่อไปในอนาคต

วันนี้ สทป. มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จากองค์ความรู้เพื่อนำไปขยายผลต่อยอดสู่อุตสาหกรรม ผ่านการบูรณาการความร่วมมือที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา พร้อมขับเคลื่อนไปสู่การมีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เข้มแข็ง สามารถวิจัยพัฒนานวัตกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อตอบสนองการใช้งานของเหล่าทัพที่มีความต้องการหลากหลายมิติ นำไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม ลดการพึ่งพาต่างประเทศและพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่อง สำหรับการใช้ประโยชน์ทางภาคสังคมและเป็นการสร้างบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญและทันสมัยในเทคโนโลยีต่างๆ มุ่งเน้นให้เกิดการทำงานในรูปแบบประชารัฐ เพื่อผลิตไปสู่การใช้งานในราชการและในเชิงพาณิชย์ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สนับสนุนการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวไปสู่ Thailand 4.0 เพื่อให้ยุทโธปกรณ์สามารถตอบสนองการใช้งานของเหล่าทัพที่มีความต้องการหลากหลายมิติ และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องสำหรับการใช้ประโยชน์ทางภาคสังคม ให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน นำไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม ลดการพึ่งพาต่างชาติเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองนโยบายพัฒนาประเทศในการปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายในการส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve ลำดับที่ ๑๑