สงครามอ่าวครั้งที่ ๑ ถูกปลุกประสาทชาวโลกเมื่อกองทัพอิรักบุกเข้ายึดครองคูเวต ในวันที่ ๒สิงหาคม ๒๕๓๓ หมายจะหาทางออกสู่ทะเลเพื่อการลำเลียงน้ำมันเข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น โดยต้องการรื้อฟื้นความล่มจมหรือย่ำแย่อย่างที่สุดในระบบเศรษฐกิจของประเทศ มองไปทางไหนมีแต่ความขาดแคลนข้นแค้น ความศรัทธาต่อรัฐบาลถดถอย ซึ่งเป็นผลจากสงครามแปดปีกับอิหร่านในช่วงปี ๑๙๘๐ – ๑๙๘๘ การบุกของอิรักทำให้เกิดการประณามจากนานาชาติ เรื่องปวดใจที่ตามมาคือ สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตัดสินใจเลือกใช้วิธีการบังคับทางเศรษฐกิจต่ออิรัก เป็นเครื่องมือในการกดดันต่อความฮึกเหิมแบบไร้ขีดจำกัดของอิรัก และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายนานาประการในประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอารยะธรรมโลกตั้งแต่ยุคโบราณ
อิรักเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานจากเป็นแหล่งอารยะธรรมเก่าแก่ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เรียกว่าดินแดนแถบเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia : Meso ; กึ่งกลาง,ระหว่าง : Potamia ; แผ่นดิน) หมายถึง แผ่นดินที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำไทกริส (Tigris) และแม่น้ำยูเฟรตีส (Euphrates) ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก จึงมีอาณาจักรของชนเผ่าที่โด่งดังในยุคนั้นอาศัยร่วมกันพร้อมกับการทำลายล้างกันอยู่มาก เช่น อาณาจักรซูเมอร์ (Sumerian Civilization) อาณาจักร บาบิโลเนีย (Babylonia) อาณาจักรอัสซีเรีย (Assyria) อาณาจักรมีเดีย (Media) เป็นต้น ครั้นล่วงเข้าศตวรรษที่ ๑๗ เป็นยุคที่ชาวเติร์กแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman) เริ่มรุ่งเรือง จึงได้ยึดครองดินแดนเกือบทั้งหมดในแถบนี้ซึ่งรวมถึงอิรักด้วย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นออตโตมัน ซึ่งก็คือตุรกี ในปัจจุบัน
ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติอาณาจักรออตโตมันที่เคยเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ ต้องตกเป็นผู้แพ้สงคราม ดินแดนต่างๆ ที่ออตโตมันปกครองก็ถูกแบ่งแยกออกเป็นรัฐต่างๆ ซึ่งอิรักเป็นหนึ่งของรัฐที่ถูกแบ่งแยกออกมา โดยอังกฤษเข้ามาเป็นผู้ปกครองในฐานะรัฐอารักขาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๒๐ จนกระทั่งในปี ค.ศ.๑๙๓๒ อังกฤษจึงได้ให้เอกราชแก่อิรัก ประเทศนี้ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม มีสายความเชื่อหรือสายพันธ์ เป็น ซุนนีย์ (Sunni) ชีอะฮ์ (Shia) และชาวเคิร์ด (Kurdish) ที่ต่างออกไปแต่ก็ยังเป็นมุสลิม
สงครามอ่าวครั้งแรกนี้ ประธานาธิบดี George H.W.Bush ได้ให้คำแนะนำอย่างหนักแน่นแก่ พลเอก H.Norman Schwarzkopf ผู้บัญชาการ USCC (United States Central Command) ซึ่งเหมือนกับกองบัญชาการทหารสูงสุดแห่งชาติ ถึงการประกาศสงครามกับอิรักให้เร็วที่สุดภายหลังวันที่ ๑๕ มกราคม ๑๙๙๑ ในขณะที่สภาคองเกรสยังอึดอัดและลังเลใจถึงการตัดสินใจของประธานาธิบดี
แต่ท้ายที่สุดสงครามเพื่อการปลดปล่อยอิรัก ตามยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในปัญหาตะวันออกกลางก็ต้องเกิด และชาวโลกได้เห็นหน้าตาของสงครามที่เปลี่ยนไป ซึ่งอีกฝ่ายได้เปรียบตั้งแต่ต้นในเรื่องเทคโนโลยี ว่าการดำเนินการยุทธ์แบบผสมผสานและผลของสงคราม จะเป็นอย่างไร สงครามครั้งนี้นับได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์และยุทธศิลป์ ที่ผสมผสานกองกำลังและเทคโนโลยีกันได้อย่างลงตัว เป็นบทเรียนในสถาบันทางทหารของบ้านเราอยู่มาก อนึ่งการสงครามครั้งนี้ชาติตะวันตกแทบจะไม่ได้ใช้จ่ายอะไรมากมายนัก เนื่องจากมีสปอนเซอร์ให้การสนับสนุนรายใหญ่เป็นเงินเกือบครึ่งแสนล้านดอลลาร์ คือประเทศซาอุดิอาระเบียมหามิตรในตะวันออกกลางของสหรัฐฯ นั่นเอง
เมื่อ ๒๐ ปี ที่ผ่านมา ก่อนสงครามอ่าวเกิดขึ้น แนวความคิดการใช้กำลังทางอากาศอย่างเฉียบขาดด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีของกำลังทางอากาศและด้านอวกาศ ให้เกิดคุณลักษณะที่โดดเด่นของกำลังทางอากาศ ตั้งแต่การพลางตนเองในระดับที่ล่องหน (Stealth) อันยอดเยี่ยม การบูรณาการด้านการข่าวที่เชื่อถือได้ ความรวดเร็ว ความแม่นยำ รวมไปถึงการลดการบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตนั้น ยังเป็นเรื่องที่ลางเลือนและห่างไกลอยู่มาก
ครั้นเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมโลก โดยมีตะวันออกกลางเป็นต้นตอของปัญหา ทั้งเรื่องการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ เป็นแหล่งเพาะบ่มและส่งเสริมการก่อการร้ายข้ามชาติ เป็นศูนย์รวมของการล้มล้างอิสราเอล ที่ดูแลเมืองศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเล็มของชาวคริสต์ เมื่อความวุ่นวายเหล่านี้เดินทางมาถึงจุดสุกงอมและแตกหัก การบุกเข้ายึดครองคูเวตของอิรัก ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ รีบพลิกกลับสถานการณ์ทันที การเปิดปฏิบัติการพายุทะเลทรายในค่ำคืนของวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๑๙๙๑ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปิดบทบาทการสงครามยุคใหม่ของโลก โดยการขับเคลื่อนของกำลังทางอากาศแห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ ภายใต้การจัดกำลังแบบเฉพาะกิจร่วม (J0int Operation) จากทุกเหล่าทัพของสหรัฐฯ
๖ สัปดาห์ของการทำสงครามทางอากาศ ได้พลิกผันสิ่งที่คาดว่าจะมีการบาดเจ็บล้มตายอย่างมากนั้นลงไปโดยสิ้นเชิง และนอกจากนั้นกำลังทางอากาศยังทำลายและปราบปรามการรุกรานของกำลังทางอากาศและกำลังทางบกของอิรัก ซึ่งทำให้กำลังทางบกของสหรัฐฯ ใช้เวลาเพียงแค่ ๔ วัน ในการเข้ายึดครองคูเวตและผลักดันให้กองทัพอิรักถอยร่นเข้าสู่แผ่นดินของตนเองได้อย่างเด็ดขาด
เครื่องบินล่องหนแบบ F-111s และ F-117s รวมถึง เครื่องบินรบแบบ F-15E ขึ้นปฏิบัติการซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผนวกกับการมีประสิทธิภาพอย่างไร้ที่ติของลูกระเบิดแบบ LGB (Laser Guided Bombs) นำวิถีด้วยเลเซอร์ ความผิดพลาดต่อเป้าหมายเป็นศูนย์ รถถังหรือกำลังต่างๆ ของอิรักกลางทะเลทรายในคูเวตถูกโจมตีแบบไม่มีทางต่อสู้ หมดหนทางในการเอาตัวรอด ท่ามกลางทะเลทรายที่เวิ้งว้างอย่างสิ้นเชิง ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเสียงกัมปนาทกึกก้องของเครื่องยนต์ไอพ่น เมฆหมอกที่เคยมีถูกทดแทนด้วยห่าฝนของจรวดนำวิถีและลูกระเบิดร่อน
ในปฏิบัติการพายุทะเลทรายมีภารกิจทางอากาศต่อเป้าหมายภาคพื้นมากกว่า ๔๓,๐๐๐ เที่ยวบิน โดยประกอบกำลังร่วมของฝูงบินรบแถวหน้าของโลก เช่น เครื่องบินแบบ A-10, F-16, F-4G, F/A-18, C/AC-130, B-52, AWACS, BQM-74C (Drone), KC-10, KC-135 และเครื่องบินแบบต่างๆ อีกทั้งขีปนาวุธประจำเครื่องบินเกือบทุกแบบ ล้วนแล้วแต่มีความมหัศจรรย์พันลึก ที่โดดเด่นคือขีปนาวุธแบบ AGM-88 (HARM) ที่ยิงจากเรือบรรทุกเครื่องบินเพื่อโจมตีในช่วงเริ่มต้นของพายุทะเลทราย เป็นการโจมตีจากระยะไกล ไร้การต่อต้านและแม่นยำ ไม่มีลูกใดตกทิ้งให้เสียของในทะเล หรือส่วนที่ไม่ใช่เป้าหมาย
ดาวเทียมทางทหารทุกดวงพุ่งความสำคัญไปที่ยุทธบริเวณ ช่วยเสริมสร้างความเที่ยงตรงของข่าวกรองทางทหารและระบบพิกัดระบุตำแหน่ง ความสำเร็จของกำลังทางอากาศในครั้งนี้ หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการกองทัพอากาศ พลอากาศเอก Merrill A.Mc Peak ได้กล่าวสรุปว่า “นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์สงครามที่กำลังทางอากาศสามารถเอาชนะกำลังทางบกได้อย่างหมดสิ้น” ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะสัดส่วนของขีดความสามารถต่างกันหลายทศวรรษ และในเรื่องนี้ภายในระยะเวลาไม่นานมาก ก่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนากำลังทางอากาศของจีนแบบก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า กำลังทางอากาศของตนเองตกยุคและอ่อนล้าเหลือเกิน
ในช่วงเริ่มต้นของปฏิบัติการพายุทะเลทราย มีความเชื่อมั่นไม่มากนักถึงผลของรูปแบบการปฏิบัติการของกำลังทางอากาศ แม้ว่ากองกำลังร่วมเฉพาะกิจจะมีการเตรียมการเรื่องการจัดหน่วยและฝึกล่วงหน้ามาแล้วกว่าห้าเดือน สิ่งที่วิตกกังวลกันนั้นคือ การบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตจะมีมากมายขนาดไหน โดยพิจารณาถึงขีดความสามารถการตอบโต้ที่มีพื้นฐานจากความแข็งแกร่งของกองทัพอิรัก ซึ่งมีความใหญ่โตของกองทัพเป็นอันดับสี่ของโลกและเป็นอันดับหกเมื่อเปรียบเทียบเฉพาะกองทัพอากาศ อีกทั้งยังมีความช่ำชองในสมรภูมิกลางทะเลทรายที่เคยกรำศึกมาอย่างยาวนานในสงครามแปดปีกับอิหร่านตั้งแต่ปี ๑๙๘๐ – ๑๙๘๘ นอกจากนั้นยังต้องระวังเป็นอย่างยิ่งในการถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ชีวะ เคมีจากอิรักอีกด้วย ด้วยความกังวลดังกล่าว กองกำลังร่วมเฉพาะกิจของสหรัฐฯ จึงได้เตรียมโรงพยาบาลไว้ถึง ๖๓ แห่ง เรือพยาบาล ๒ ลำและเตียงสนามในพื้นที่การรบอีกถึง ๑๘,๐๐๐ เตียง ซึ่งก็คือมิติของส่วนยุทธบริการที่ต้องไม่ละเลย
ด้วยเหตุที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความสูญเสียของทหารจำนวนมาก กำลังทางอากาศจึงได้รับการยอมรับให้เป็นกำลังหลักในการโจมตีต่อกองกำลังทหารของอิรักก่อนการโจมตีของกองกำลังภาคพื้นอื่นๆ พลเอก Schwarzkopf จึงได้อนุมัติให้เปิดปฏิบัติการทางทหารเป็นสี่ช่วงปฏิบัติการ สามช่วงแรกเป็นการปฏิบัติการของกำลังทางอากาศแต่เพียงลำพัง ช่วงสุดท้ายเป็นการสนับสนุนโดยใกล้ชิดแก่กองกำลังภาคพื้นดินเพื่อผลักดันและยึดครองคูเวตคืนจากอิรัก โดยที่ในช่วงแรกเป็นการปฏิบัติการเพื่อครองอากาศและทำลายรถถัง ปืนใหญ่ เป้าหมายทางยุทธศาสตร์และกองกำลังในแนวหน้าของอิรักให้ราบคาบหลังจากนั้นจึงเป็นการบุกรุกคืบตีให้ถอยร่นของกำลังภาคพื้นในช่วงสุดท้าย
เมื่อหลักนิยมการปฏิบัติการมุ่งเน้นมาที่กำลังทางอากาศ ฉะนั้นการตัดสินใจเริ่มต้นของปฏิบัติการพายุทะเลทรายจึงขึ้นอยู่กับ พลอากาศโท Charles A.Horner ผู้บัญชาการกองกำลังทางอากาศร่วม ซึ่ง Horner ได้วางแผนให้ F-117s โจมตีเป้าหมายส่วนบัญชาการหรือ 2CI ในกรุงแบกแดดและระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิรักในคืนเดือนมืดก่อนรุ่งสว่างของเช้าวันที่ ๒๗ มกราคม ๑๙๙๑ และเชื่อมต่อกับการปฏิบัติการทางอากาศที่ตามมาอย่างต่อเนื่องในตอนเช้า สำหรับระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิรักนั้น สหรัฐฯ ได้รับการเอื้อเฟื้อข้อมูลทุกอย่างเป็นอย่างดีโดยมิต้องร้องขอจากบริษัทของฝรั่งเศสและสวีเดนที่เป็นบริษัทผู้ติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้แก่อิรัก ในโลกของสงครามนั้นไม่เคยมีมิตรแท้เลย เคยเป็นคู่ค้าแต่กลับปันใจป้อนข้อมูลสำคัญให้กับอีกฝ่าย
แม้ว่ายุทธศาสตร์ทางทหารของอิรักจะถูกทำลายอย่างย่อยยับ จากมรสุมของเทคโนโลยีสงครามเกือบทุกชนิดของสหรัฐฯ แต่ก็ยังมีการพยายามต่อต้านของอิรักอยู่บ้าง โดยอิรักยิงขีปนาวุธแบบ SAM เพื่อต่อต้านอากาศยานและยิงขีปนาวุธแบบ Scud โจมตีอิสราเอลและซาอุดิอาระเบียแต่ก็ถูกต่อต้านจากขีปนาวุธต่อต้านขีปนาวุธแบบ Patriot ของกองทัพบกสหรัฐฯ
ช่วงสุดท้ายของพายุทะเลทราย หลังจากสิ้นสุดการปฏิบัติการทางอากาศของกำลังทางอากาศซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้นห้าสัปดาห์และมั่นใจถึงการครองอากาศแล้วนั้น ก่อนที่กำลังทางอากาศจะต้องลดบทบาทลงมาเพื่อการสนับสนุนกำลังภาคพื้น พลเอก Schwarzkopf ได้ประเมินผลการปฏิบัติการถึงความเสียหายของกองกำลังอิรัก พบว่ากองกำลังอิรักเกือบทั้งหมดแม้กระทั่งกองกำลังทั้งสามกองพันของ Republican Guard เพื่อพิทักษ์ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ก็อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มีระดับความพร้อมรบไม่ถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ คือแค่เอาตัวรอดเท่านั้นไม่อาจหักหาญกับใครได้
การปฏิบัติการของกำลังภาคพื้นสหรัฐฯ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๑๙๙๑ เป็นวันที่ชุ่มช่ำไปด้วยลมฝน โคลนตมและเมฆหมอกแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เนื่องจากความยุ่งยากใจทุกอย่างนั้น กำลังทางอากาศได้ขจัดให้เสียจนหมดสิ้นแล้ว การปฏิบัติการในช่วงสุดท้ายนี้ใช้เวลาเพียงแค่สี่วันเท่านั้น ประธานาธิบดีบุช จึงได้ประกาศหยุดยิงและปิดฉากมหากาพย์สงครามยุคใหม่พายุทะเลทรายกับชัยชนะอย่างเด็ดขาดที่มีการบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตน้อยที่สุด เมื่อเวลา ๕ นาฬิกา(Riyadh time) ของวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๑๙๙๑
หลังสิ้นสุดปฏิบัติการพายุทะเลทราย สหรัฐฯ ได้ส่งมอบความรับผิดชอบต่อไปให้กับสหประชาชาติและมีการกำหนดเขตห้ามบิน (No Fly Zone) ขึ้น ในขณะที่ภาพสุดท้ายของการปฏิบัติการเพื่อปลดปล่อยคูเวตก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพ และเอกภาพของกำลังทางอากาศในสงครามยุคใหม่ที่เพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยี และมีการปฏิบัติการในห้วงอวกาศเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเป็นอย่างมาก จึงก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เบ็ดเสร็จ ไม่เกิดความยืดเยื้อยาวนานเหมือนสงครามในยุคก่อน ประธานาธิบดีบุช ถึงกับกล่าวอย่างมั่นใจถึงการสิ้นสุดของสงครามครั้งนี้ว่า “Now,We have Saddam Hussein still there. : ซัดดัม ฮุสเซ็น กลับอิรักไปแล้ว”
จาก : Air Force Magazine,Jan 2011
ผู้เขียน : Rebecca Grant