วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่กำลังจะเวียนมาบรรจบในเวลาอันใกล้นี้ประชาชนชาวไทยจะได้มีโอกาสร่วมกันเฉลิมฉลองในมิ่งมหามงคลกาลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จขึ้นครองไอศูรย์สิริราชสมบัติ เป็นเวลา ๖๙ ปี ซึ่งนับเป็นปีมหามงคลแห่งประชาชนชาวไทยอีกคำรบหนึ่ง
ขอเรียนว่ายังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความเข้าใจว่าวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓คือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เนื่องเพราะ ในวันที่ ๕ พฤษภาคมดังกล่าวเป็นวันที่ทางราชการประกาศให้เป็นวันรำ ลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีประชาชนส่วนน้อยที่ทราบถึงวันเป็นมิ่งมหามงคลวันแรกที่ทรงเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ไทยคือ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙
ผู้เขียนใคร่ขอเรียนให้ท่านได้กรุณาทราบถึงพระราชพิธีของการเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติและพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อความกระจ่างชัด ดังนี้
การเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ หมายถึงกาลสำคัญที่พระมหากษัตริย์ขึ้นครองสิริราชสมบัติต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนทั้งนี้เพราะประเทศจะขาดองค์พระประมุขไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักของความต่อเนื่องในการครองสิริราชสมบัติ ซึ่งหากพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือยังไม่ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ยังทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และยังไม่ใช้นพปฎลมหาเศวตฉัตรหรือฉัตร ๙ ชั้น อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก หมายถึงพระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ หรือพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรับรองฐานะความเป็นประมุขของรัฐอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้น จึงทรงพระนามว่า“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ภายหลังเหตุการณ์สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน และในเวลา ๒๑.๐๐ น.ของวันเดียวกัน รัฐสภาได้ลงมติถวายราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นสืบราชสมบัติ เป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ต่อไป
แต่เนื่องจากในเวลาดังกล่าว องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้ทรงบรรลุนิติภาวะ ทั้งยังทรงมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
แต่ทรงเปลี่ยนสาขาวิชาที่ทรงศึกษาจากเดิมคือสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ไปเป็น สาขาวิชานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการดำรงพระราชสถานะองค์พระประมุขของประเทศ
ซึ่งภายหลังจากทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว จึงได้เสด็จนิวัติพระนครในเดือนมีนาคม๒๔๙๓ และยังเป็นวโรกาสที่ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว รัฐบาลไทยจึงได้จัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓
ตลอดระยะเวลา ๖๙ ปี แห่งการทรงเสด็จขึ้นครองไอศูรย์สิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ทรงบำ.. เพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการพระองค์มิได้เคยทรงละเลยต่อการสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎร มิเคยทรงดูดายกับความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน ทรงไม่เคยว่างเว้นจากการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นหาหนทางปฏิบัติและวิธีการในการพัฒนาประเทศการสร้างความกินดีอยู่ดีของพสกนิกร ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะสร้างนำให้ราษฎรได้รับประโยชน์สุขสมดังพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยา”
ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา ทรงแสดงให้ประจักษ์ผ่านโครงการพระราชดำริมากมายนานัปการและทรงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นแบบอย่างของผู้ที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมในการปฏิบัติจนบังเกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ พระราชดำรัสที่ทรงตรัสอยู่เสมอว่า ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังยากจน พระองค์จึงต้องทรงต่อสู้กับศัตรูคือความยากจนของราษฎร ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนชาวไทยและทั่วโลกได้เห็นจนชินตาคือ พระองค์ทรงแสวงหาวิธีการทุกประการเพื่อต่อสู้กับความทุกข์ยากอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ประชาชนของพระองค์ชนะความยากจนให้ได้ ทั้งยังทรงสอน ทรงสาธิต ให้ราษฎรเห็นกระบวนการและวิธีการที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความอยู่ดีมีสุขดังจะเห็นได้จากหลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสมในรูปแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” อีกทั้ง ยังทรงสอนให้พสกนิกรชาวไทยต่างตระหนักในคุณธรรมและหลักการดำ.. เนินชีวิตด้วยการทรงเป็นแบบอย่างด้วยพระองค์เอง และพระราชทานหัวข้อธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน อาทิ คุณธรรม๔ ประการในการรักษา สัจจะหรือความสัตย์ความจริง ทมะหรือการรู้จักข่มใจ ขันติหรือการรู้จักอดทน อดกลั้นและอดออมและการรู้จักละวางความชั่ว และ จาคะหรือความเสียสละ ความเผื่อแผ่ แบ่งปัน เพื่อพัฒนาคุณภาพจิตใจให้เจริญขึ้นและหยั่งรากลึกในจิตใจพสกนิกรของพระองค์
เนื่องในวโรกาสอันเป็นมิ่งมหามงคลที่จะเวียนมาบรรจบถึงกาลในวันที่ ๙ มิถุนายน๒๕๕๘ และเป็นวโรกาสที่บรรจบครบรอบ๖๙ ปี แห่งการเสด็จขึ้นครองไอศูรย์สิริราชสมบัติขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้เขียนใคร่ขอเรียนเชิญมวลมหาชนชาวไทยทั้งที่อยู่ในประเทศและอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ร่วมกันกระทำคุณงามความดี บำเพ็ญกรณียกิจอันประกอบไปด้วยความถูกต้องทั้งทางกาย วาจา และใจ ถวายเป็นพระราชกุศลน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยขอให้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระเจริญยิ่งยืนนานสถิตเป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยตราบจิรัฐิติกาล