วันวิสาขบูชา หรือ วันเพ็ญเดือน ๖ ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญที่สุดในทางพระพุทธศาสนาเนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญถึงสามเหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อนณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ ๘๐ ปี ก่อนพุทธศักราชเป็น “วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ” ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น “วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ ๑ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น “วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน ๖ นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุดจึงมีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระพุทธเจ้า” และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน
สำหรับวันวิสาขบูชาในประเทศไทยได้ปรากฏตามหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณพ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างมโหฬารเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่ และสมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกาได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า “เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดินข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุกหมู่บ้านทุกตำบลต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนาถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถาคนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ปล่อยสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลาเพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุยืนยาวต่อไป
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากอำนาจของศาสนาพราหมณ์ มีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ. ๒๓๖๐) ทรงดำริกับสมเด็จพระสังฆราช(มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ.๒๓๖๐และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากันฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบันและมีการจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัยคือการจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน “ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ” ตั้งแต่วันที่ ๑๒ – ๑๘ พฤษภาคม รวม ๗ วัน โดยได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วยนอกจากนี้ วันวิสาขบูชายังถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญของโลกด้วย เริ่มจากผู้แทนของประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธ คือ บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฏาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้ร่างข้อมติร่วมกันและขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ที่จะประกาศให้วันวิสาขบูชา เป็นวันหยุดของสหประชาชาติ ในการประชุม International Buddhist Conference ณ กรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๑ แต่ต่อมาคณะผู้แทนจากศรีลังกา ได้เปลี่ยนเป็นการเสนอข้อมติให้ประกาศวันวิสาขบูชาเป็น “วันสำคัญสากล” แทนเนื่องจากวันหยุดของสหประชาชาติมีมากแล้ว และจะกระทบต่อการดำเนินงานของสหประชาชาติ และได้ดำเนินการให้คณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติจำนวน ๑๖ ประเทศ คือ ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฎาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย ไทย และยูเครนให้ร่วมลงนามในหนังสือถึงประธานที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ระเบียบวาระของการประชุมใหญ่ฯ จนเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๕ จึงได้พิจารณาระเบียบวาระที่ ๑๗๔ ว่าด้วยการยอมรับวันวิสาขบูชาในระดับสากล(International recognition of the Day of Visak) โดยการเสนอของศรีลังกา ประธานที่ประชุมได้ให้ผู้แทนจากศรีลังกาเสนอร่างข้อมติ และเชิญให้ผู้แทนจาก ไทย สิงคโปร์บังคลาเทศ ภูฎาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถานอินเดีย ขึ้นแถลง สรุปความได้ว่า
“วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติจึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง(observance) ตามความเหมาะสม”
นายวรวีร์ วีรสัมพันธ์ อุปทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้ให้เหตุผลในถ้อยแถลงมีใจความตอนหนึ่งว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน” ในที่สุด องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็น “วันสำคัญสากล” (ด้วยชื่อวันว่า “Visak”) โดยการเสนอของประเทศศรีลังกาดังกล่าว ด้วยมติเอกฉันท์ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒