ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพากองทัพเรือได้วางแนวทางในการป้องกันฐานทัพที่คาดว่าจะถูกโจมตีทางอากาศ กองทัพเรือจึงได้จัดตั้ง “หน่วยต่อสู้อากาศยาน” โดยใช้กำลังพลจากเรือหลวงธนบุรีเรือหลวงชลบุรี และเรือหลวงสงขลา มาเข้ารับการอบรม เมื่อเสร็จสิ้นการอบรม จึงจัดตั้งเป็น “กองต่อสู้อากาศยาน” เมื่อวันที่ ๑๖กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๕ โดยสังกัดกองเรือรบ(ปัจจุบันคือ กองเรือยุทธการ) กองทัพเรือได้จัดตั้งหน่วยต่อสู้ป้องกันภัยทางอากาศให้แก่ฐานทัพเรือ และที่ตั้งสำคัญทางทหารและใน พ.ศ.๒๕๒๔ จัดตั้ง “กรมต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง” ขึ้นตรงต่อฐานทัพเรือสัตหีบ โดยรับผิดชอบป้องกันภัยทางอากาศ และภัยทางทะเล ในพื้นที่เศรษฐกิจที่สัตหีบ ต่อมาได้รับการขยายหน่วยเป็น“หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง” ขึ้นตรงต่อกองทัพเรือ เมื่อวันที่ ๑๓สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๓ มีชื่อย่อว่า “สอ.รฝ.” จะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถกำลังรบในมิติป้องกันภัยทางอากาศและรักษาฝั่งเพื่อรองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในลักษณะ POINT Defence (เคลื่อนที่ป้องกันตามจุดพิกัดต่างๆ) และสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตามแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งและเป็นกำลังรบสำคัญของกองทัพเรือในอีกมิติหนึ่ง จึงจำเป็นต้องจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหมาะสมในลักษณะ SURFACE – AIR เพื่อป้องกันภัยทางอากาศในระยะประชิดแนวเชิงลึกในห้วงอากาศ เพื่อรักษาพื้นที่สำคัญต่างๆ และภารกิจของกองทัพเรือต่อไป

บทความนี้ขอนำเสนอแผนป้องกันประเทศในอีกมิติหนึ่ง ของกองทัพเรือ คือแผนป้องกันประเทศทางทะเลตามหลักยุทธศาสตร์หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งเมื่อใดที่ประเทศไทยของเราต้องอยู่ในสภาวะสงคราม การใช้กำลังในการรบร่วมระหว่างกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศก็จะมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นสงครามที่จะมีขึ้นในศตวรรษหน้าจะไม่มีความรุนแรงเนื่องจากการเข้าสู่ AEC แต่กำลังรบจะเป็นในลักษณะป้องปรามและป้องกันอาณาเขตทางทะเลตามแนวชายฝั่งและเกาะที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญต่างๆ ดังนั้นการป้องกันประเทศทางทะเลด้วยกำลังสมุทธานุภาพของกองทัพเรือจะยังไม่เพียงพอ อาจมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการรบด้วยกำลังเรือมาเป็นวิธีป้องกันตัวเองด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีพิสัยไกลแทน แต่โอกาสที่เราจะทำการรบทางเรือในลักษณะสงครามการยุทธนาวีระหว่างประเทศเป็นไปได้น้อยเนื่องจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC)จะเป็นไปในลักษณะความร่วมมือทางทะเลและบริหารมั่นคงทางทะเลร่วมกัน แต่จะใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยติดตั้งบริเวณชายฝั่งทะเลและพื้นที่เกาะที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ต่างๆ

อาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยอาณาเขตไหล่ทวีป ๒๐๓,๖๑๙.๓๗๕ ตารางกิโลเมตร ความยาวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยระยะทาง ๑,๘๔๐ กิโลเมตร หรือเท่ากับ๙๙๔ ไมล์ทะเล พื้นที่อาณาเขตไหล่ทวีปด้านอันดามัน ๑๑๒,๔๙๘.๘๖ ตารางกิโลเมตรความยาวชายฝั่งทะเลอันดามัน ระยะทาง๘๖๕ กิโลเมตร หรือเท่ากับ ๔๖๗ ไมล์ทะเลเป็นระยะทางค่อนข้างยาว ยากต่อการป้องกันหากมีภัยคุกคามรูปแบบใหม่เกิดขึ้น จำเป็นต้องจัดเตรียมแผนป้องกันประเทศทางทะเลและตามแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย