วิวัฒนาการของการโจมตีด้วยอาวุธความแม่นยำสูงในทศวรรษต่อไป
อาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ (Short-Range Missiles)
บทวิเคราะห์เรื่องนี้ เป็นการศึกษา วิเคราะห์ และสรุปข้อมูลจากบทวิเคราะห์ของศูนย์ประเมินยุทธศาสตร์และงบประมาณ ( The Center for Strategic and Budgetary – CSBA) เรื่อง “The Evolution of Precision Strike” โดย Barry D. Watts. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่า การเพิ่มการใช้งานของอาวุธความแม่นยำสูงตามแบบ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสงครามใน ๑ – ๒ ทศวรรษหน้า
อาวุธนำวิถีเริ่มมีบทบาทสำคัญอย่างเด่นชัดในการโจมตีทางอากาศ ตั้งแต่สงครามอิรักครั้งที่ ๑ (สงครามอ่าวเปอร์เซีย) ในปี ค.ศ.๑๙๙๑ จนกระทั่งถึงการโจมตีทางอากาศในยุคปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่สงครามที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๙๙, ๒๐๐๑-๒๐๐๒ และ ๒๐๐๓ คือ การลดจำนวนการใช้งานอาวุธไม่นำวิถี เช่น ลูกระเบิดอเนกประสงค์แบบMark 82 เป็นต้น ดังที่แสดงในรูปที่ ๑ ในสงครามอ่าวเปอร์เซียนั้น กองทัพอากาศสหรัฐฯ ใช้อาวุธไม่นำวิถีจำนวนมากกว่า ๒๑๐,๐๐๐ ลูก แต่ในขณะที่สงครามอิรักในปี ค.ศ.๒๐๐๓ อาวุธไม่นำวิถีที่ใช้ในการโจมตีมีน้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ ลูก หรือน้อยกว่า ๕ เปอร์เซ็นต์ของอาวุธไม่นำวิถีที่ใช้ในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก ในขณะที่จำนวนอาวุธนำวิถีกลับเพิ่มขึ้นมาก จากที่ใช้น้อยกว่า๘ เปอร์เซ็นต์ในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกเป็นใช้มากกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ในสงครามอิรักครั้งที่ ๒ จนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่า การโจมตีทางอากาศทั้งจากกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และนาวิกโยธิน จะเป็นการใช้งานอาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำสูง
ข้อสังเกตที่เด่นชัดในการโจมตีด้วยอาวุธนำวิถีในสงครามทั้ง ๔ ครั้งที่ผ่านมา ดังแสดงในรูปที่ ๒ ได้แก่ อัตราส่วนของการโจมตีด้วยอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้และอาวุธนำวิถีพิสัยไกลมีความแตกต่างกันอย่างมาก อาวุธนำวิถีพิสัยไกลแบบ CALCM (Conventional Air Launch Cruise Missile) และ TLAM (Tomahawk Land Attack Missile) ถูกนำมาใช้งานเพียงแค่ ๓ เปอร์เซ็นต์ ของอาวุธนำวิถีที่ใช้ไปมากกว่า ๕๓,๗๐๐ ลูก ในขณะที่ลูกระเบิดนำวิถีที่ไม่ต้องการกำลังขับเคลื่อนแบบJDAM (Joint Direct Attack Munition) และLGB (Laser-guided Bomb) กลับถูกนำมาใช้มากกว่า ๗๘ เปอร์เซ็นต์ของอาวุธที่ใช้ทั้งหมด
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อาวุธนำวิถีความแม่นยำสูงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการโจมตีทางอากาศอาวุธนำวิถีส่วนใหญ่ที่ใช้ในการโจมตีเป็นอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ รวมทั้งทิศทางการพัฒนาอาวุธนำวิถีในตลาดโลกปัจจุบันก็ยังคงเป็นอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ เช่น JDAM, SDB, LGB ฯลฯ ในขณะที่อาวุธนำวิถีพิสัยไกล เช่น JASSM (Joint Air-to-Surface Standoff Missile), Tomahawk ฯลฯ มีเฉพาะประเทศมหาอำนาจบางประเทศเท่านั้นที่ยังคงดำเนินการพัฒนาอยู่ สิ่งที่กล่าวต่อไปนี้ จะเป็นการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่อาวุธนำวิถีพิสัยใกล้เป็นวิวัฒนาการของการโจมตีด้วยอาวุธความแม่นยำสูงในทศวรรษต่อไป
เทคโนโลยีในปัจจุบัน : ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อการพัฒนาอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้
อาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ เป็นอาวุธที่มีความแม่นยำในระยะใกล้ สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องการข้อมูลเป้าหมายล่วงหน้า หรือระบบเครือข่ายในพื้นที่การรบโดยเฉพาะเมื่อใช้งานโจมตีเป้าหมายอยู่กับที่หรือกองกำลังภาคพื้นดินที่สามารถตรวจจับได้ในสถานที่ที่คุ้นเคย อาวุธแบบนี้ส่วนใหญ่ใช้การนำวิถีโดยใช้หลักการนำวิถีด้วยแรงเฉื่อย (Inertial Navigation) โดยการช่วยเหลือของระบบดาวเทียมบอกตำแหน่ง นำร่อง และเวลา (Positioning, Navigation and Time :PNT) ซึ่งในปัจจุบันมีความแม่นยำในเกณฑ์ที่น่าพอใจและมีให้บริการหลายระบบ เช่น ระบบ Global Positioning System (GPS) ของสหรัฐฯ, ระบบ Global Navigation Satellite System (GLONASS) ของรัสเซีย, ระบบ Baidou ของจีน และระบบ Galileo ของยุโรป ซึ่งจะทำงานอย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ.๒๐๑๙ นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส อินเดีย และญี่ปุ่น อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบดังกล่าว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ข้อมูลจากดาวเทียม PNT ที่อาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ต้องการใช้ในการนำวิถีจะมีอยู่ทุกหนแห่งของโลก
นอกจากนี้เทคโนโลยีการนำวิถีอื่นๆ เช่น Laser, Infrared, Millimeter Wave, LADAR (Laser Detection and Ranging) ฯลฯ ในปัจจุบันมีอยู่อย่างแพร่หลายและสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น อุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไปตามท้องตลาด (Commercial-Off-The-Shelve Products) มีประสิทธิภาพสูงมากเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาระบบควบคุมและนำวิถี ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการนำวิถีในขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่อาวุธจะทำลายเป้าหมาย เพื่อทำให้เกิดความแม่นยำเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ด้วยขีดจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ลดลงทำให้หลายประเทศได้ดำเนินการพัฒนาอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ และมีขีดความสามารถในความเป็นประเทศผู้ผลิต เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน, รัสเซีย, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, สวีเดน, เกาหลีใต้, อิสราเอล, อินเดีย และอิหร่าน จึงทำ ให้เกิดการแข่งขันในท้องตลาดสูง ราคาต่อหน่วยลดลงประเทศผู้ใช้งานมีทางเลือกและสามารถครอบครองอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ได้มากยิ่งขึ้น
ความแตกต่างด้านสมรรถนะของอาวุธนำวิถีพิสัยไกลและใกล้ที่ไม่ชัดเจน
ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้ผูกขาดการโจมตีอย่างแม่นยำด้วยอาวุธนำวิถีพิสัยไกล แต่ก็ยังคงใช้งานอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้เป็นจำนวนมาก ความแตกต่างสำคัญทางด้านสมรรถนะของอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้และอาวุธนำวิถีพิสัยไกลที่ควรจะเห็นได้อย่างชัดเจนคือระยะทางจากตำแหน่งที่อาวุธแม่นยำสูงถูกปล่อยหรือยิงไปยังเป้าหมาย แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบันทำให้ความแตกต่างเรื่องระยะจากเป้าหมายน้อยลง ในอดีตการโจมตีด้วยอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ นักบินต้องมองเห็นและโจมตีเป้าหมายที่มองเห็นได้ด้วยสายตาดังตัวอย่างเช่น ในสงครามเวียดนามระหว่างปฏิบัติการ Linebacker I (พฤษภาคม ถึงตุลาคม ๑๙๗๒) ลูกระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ (Laser Guided Bomb; LGB) ได้สร้างผลงานอย่างน่าตื่นเต้น ลูกระเบิดนี้เป็นอาวุธพิสัยใกล้มาก ถูกทิ้งจากเครื่องบิน F-4D โดยการทิ้งแบบDive-Bomb นักบินต้องครอบครองเป้าหมายด้วยสายตาโดยการชี้เป้าด้วยแสงเลเซอร์ และนักบินหน้าเป็นผู้ทิ้งลูกระเบิดโดยเล็งเป้าหมายผ่านศูนย์เล็งปืน แต่ในปัจจุบัน เครื่องบิน F-22 บินที่ความเร็ว ๑.๕ มัค ที่ความสูง ๕๐,๐๐๐ ฟุต สามารถทิ้งระเบิด Small Diameter Bomb (SDB) ที่ระยะห่างจากเป้าหมายที่ ๗๐ ไมล์ทะเล ทั้ง LGB และ SDB เป็นอาวุธที่ไม่มีกำลังขับเคลื่อนในตัวเอง
เมื่อเทียบกับอาวุธพิสัยไกลและโจมตีทางลึกในอดีต เช่น อาวุธนำวิถี T-16 ของ Martin Marietta หรือ T-22 ของ Vought ซึ่งพัฒนาในโครงการ Assault Breaker ของ Defense Advanced Research Projects Agency (DARPA)1 ในปลายปี ค.ศ.๑๙๗๐ อาวุธทั้งสองแบบมีระยะน้อยกว่าระยะไกลสุดของ SDB ดังนั้นจึงเป็นหลักการที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในปัจจุบันว่า ความแตกต่างในเรื่องระยะในการโจมตีเป้าหมายระหว่างอาวุธพิสัยใกล้และพิสัยไกลในปัจจุบันจึงไม่มีความชัดเจนมากมายนัก
นอกจากนั้น สมรรถนะในเรื่องอำนาจการทำลายเป้าหมายก็เป็นสิ่งสำคัญ อาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ เช่น ลูกระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์เป็นอาวุธแบบไม่ต้องการกำลังขับเคลื่อนจึงสามารถบรรทุกหัวรบ (Warhead) ขนาดเกือบเท่าน้ำหนักของอาวุธ ในขณะที่อาวุธพิสัยไกลจำเป็นต้องบรรทุกเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนระยะไกล ดังนั้น ถ้าจำนวนหรือขนาดของหัวรบที่เท่ากัน อาวุธนำวิถีพิสัยไกลจึงต้องมีขนาดใหญ่กว่าอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ ซึ่งเมื่ออาวุธมีขนาดใหญ่ขึ้นการนำใช้งานก็ย่อมมีความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น
จากที่กล่าวมาข้างต้น สมรรถนะที่สำคัญของอาวุธนำวิถีพิสัยไกลและใกล้ ไม่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ได้ถูกมาใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในสงครามที่ผ่านมาและในอนาคต
ราคาต่อหน่วย : ความคุ้มค่าในการใช้งานอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้
ในอดีตที่ผ่านมา ระยะของเป้าหมายจากตำแหน่งยิงหรือปล่อยอาวุธนำวิถี เป็นขีดจำกัดที่ส..ำคัญในเรื่องความแม่นนำ ด้วยเทคโนโลยีการนำวิถีอย่างถูกต้องแม่นยำในปัจจุบันทำให้สามารถลดขีดจำกัดในเรื่องนี้ ความแม่นยำในการใช้งานอาวุธนำวิถีความแม่นยำสูงจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเป้าหมายจากตำแหน่งปล่อย, ยิง หรือทิ้ง อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ราคาต่อหน่วยของอาวุธนำวิถีความแม่นยำสูงที่มีความทันสมัยยังคงขึ้นอยู่กับระยะทางในการโจมตีเป้าหมายของอาวุธนำวิถี ดังที่แสดงรูปที่๗ อาวุธนำวิถีพิสัยไกล เช่น JASSM ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่สามารถโจมตีเป้าหมายที่ระยะประมาณ ๕๐๐ ไมล์ทะเล และอาวุธนำวิถี Tomahawk ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่สามารถโจมตีเป้าหมายที่ระยะประมาณ ๙๐๐ ไมล์ทะเล มีราคาแพงกว่า SDB และ JDAM กล่าวโดยสรุป JASSM มีราคาต่อหน่วยแพงมากกว่า JDAM ถึง ๕๐ เท่า
ด้วยราคาต่อหน่วยของอาวุธนำวิถีพิสัยไกลที่แพงกว่าอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้เป็นอย่างมาก แม้แต่ประเทศที่มีความร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ก็ยังมีปัญหาในเรื่องงบประมาณในการจัดหา อาวุธนำวิถีพิสัยใกล้จึงได้รับการจัดหาเพื่อคงคลังและถูกนำมาใช้งานเป็นจำนวนมากในสงครามที่ผ่านมา
ระบบอากาศยานไร้คนขับติดอาวุธ : การเพิ่มประสิทธิภาพการโจมตีเป้าหมายระยะไกลด้วยอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้
ในสงครามอัฟกานิสถานและอิรัก มีการพัฒนาการโจมตีอย่างแม่นยำที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง โดยการใช้อากาศยานไร้คนขับควบคุมจากระยะไกลติดอาวุธ สหรัฐอเมริกาได้เริ่มพัฒนาอากาศยานที่ใช้นักบินควบคุมจากระยะไกล หรือที่เรียกว่า Remote Pilot Vehicle (RPV) สำหรับภารกิจการข่าวในตอนต้นของทศวรรษที่ ๑๙๖๐ RPV ในยุคแรกๆ เช่น Ryan Fire Fly
ในปี ค.ศ.๑๙๗๕ มีการเสนอแนวความคิดที่จะติดอาวุธให้กับ RPV สำหรับภารกิจการโจมตีเป้าหมาย โดยจะต้องติดตั้งอาวุธความแม่นยำสูงยิงจากระยะไกล เพื่อที่จะทะลุทะลวงระบบป้องกันภัยทางอากาศของข้าศึก และในกรณีของเป้าหมายหลัก เช่นโรงกลั่นน้ำมัน ให้ทำการโจมตีแบบ “คะมิกะเซะ” (การโจมตีแบบพลีชีพ) ต่อเป้าหมายนั้น อากาศยานไร้คนขับแบบแรกของสหรัฐฯ ที่ติดอาวุธ ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับทางยุทธวิธีบินนานแบบ Tier II ซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ ๑๙๙๐ และต่อมามีชื่อเรียกว่า RQ-1/MQ-1 Predator ติดตั้ง Synthetic Aperture Radar (SAR) ซึ่งสามารถมองเห็นภาพพื้นดินที่มีเมฆปกคลุมได้ ด้วยการใช้ระบบ GPS อากาศยานไร้คนขับแบบ Predator ทำให้เกิดความแม่นยำสูงในการกำหนดพิกัด และเป็นอากาศยานไร้คนขับแบบแรกที่ทำให้เกิดการควบคุมแบบนอกสายตา ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านดาวเทียม
ในปี ค.ศ.๑๙๙๖ จากประสบการณ์การใช้อากาศยานไร้คนขับในบอสเนีย กองทัพอากาศสหรัฐฯ จึงได้จัดตั้งฝูงบินลาดตระเวนทางอากาศที่ฐานทัพอากาศอินเดียนสปริง (Indian Springs Air Force Base) เพื่อควบคุมการทำงานของ Predator การพัฒนาติดตั้งอาวุธนำวิถี AGM-114 กับอากาศยานไร้คนขับแบบ Predator ได้เริ่มต้นก่อนเหตุการณ์๙/๑๑ แต่การใช้งานที่แท้จริงเริ่มขึ้นในปีค.ศ.๒๐๐๗ หลังจากที่กลุ่มอัลกออิดะฮ์โจมตีในเหตุการณ์ดังกล่าว
กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้เริ่มประจำการอากาศยานไร้คนขับที่ใหญ่กว่าและเร็วกว่า แบบ MQ-9 Reaper อากาศยานไร้คนขับแบบนี้สามารถบรรทุกอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้แบบ Hellfire ๑๔ ลูก หรือ ลูกระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ขนาด ๕๐๐ ปอนด์แบบ GBU-12 Paveway II จำนวน ๒ ลูก หรือ ลูกระเบิดนำวิถีด้วย GPS แบบ GBU-38 Joint Direct Attack Munition (JDAM) จำนวน ๒ ลูก พร้อมกับอาวุธนำวิถี Helfire จำนวน ๔ ลูก
ระบบอากาศยานไร้คนขับติดอาวุธควบคุมการทำงานจากระยะไกล ติดตั้งอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ความแม่นยำสูง สามารถตอบสนองการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายในสงครามยุคปัจจุบันและในทศวรรษต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสงครามระหว่างรัฐ กับกองกำลังที่ไม่ใช่รัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สงครามการก่อการร้าย สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศด้วยอากาศยานไร้นักบินต่อเป้าหมายสำคัญทั้งในอัฟกานิสถาน อิรัก และปากีสถาน ในปัจจุบันหลายประเทศจึงได้มีการพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับติดอาวุธ ซึ่งอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการโจมตีทางอากาศในลักษณะนี้
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งในประเด็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ความไม่แตกต่างทางด้านสมรรถนะ ราคาต่อหน่วยและอากาศยานไร้คนขับติดอาวุธ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อาวุธนำวิถีพิสัยใกล้(Short-Range Missiles) เป็นวิวัฒนาการของการโจมตีด้วยอาวุธความแม่นยำสูงในทศวรรษต่อไป ประเทศผู้ผลิตอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้ในปัจจุบัน ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอาวุธดังกล่าวให้มีสมรรถนะสูงยิ่งขึ้น ได้แก่ การเพิ่มระยะของเป้าหมาย ความสามารถในการนำวิถีใด้หลากหลายรูปแบบ (การใช้ระบบนำวิถีหลายระบบในอาวุธแบบเดียวกันหรือแม้แต่ลูกเดียวกัน) ความสามารถในการติดตั้งได้ทั้งกับอากาศยานแบบปกติและอากาศยานไร้คนขับเป็นต้น นอกจากนี้ประเทศหลายประเทศที่เริ่มมีศักยภาพก็สนใจที่จะทำการวิจัยและพัฒนาอาวุธนำวิถีพิสัยใกล้โดยอาศัยองค์ความรู้ที่แพร่หลายมากขึ้นและขีดจำกัดของเทคโนโลยีที่น้อยลง ทั้งเพื่อการพึ่งพาตนเองและความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ดังนั้นใน ๑ – ๒ ทศวรรษต่อจากนี้ อาวุธนำวิถีพิสัยใกล้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกประเทศ และจะถูกนำมาใช้ในการโจมตีทางอากาศในสงครามหรือความขัดแย้งในทุกภูมิภาคของโลกต่อไป