ภายหลังจากคณะราษฎรได้เข้ายึดอำนาจ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ตลอดระยะเวลากลับมีเสียงสะท้อนว่า ประชาธิปไตยนั้น เป็นประชาธิปไตยแบบไทยไทย และปัจจุบันเสียงสะท้อนที่รุนแรงกว่านั้นถึงขั้นว่าบางทีประชาธิปไตยอาจไม่เหมาะกับสังคมไทยก็เป็นได้
ย้อนหลังไปในช่วงที่บ้านเมืองประสบกับภาวะเปลี่ยนผ่านเมื่อกว่า ๘๐ ปี ก่อนนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนคนไทย ทรงเตรียมการพร้อมกับสอบถามความคิดเห็นจากขุนนางชั้นผู้ใหญ่และนักวิชาการต่างประเทศ แต่คำถามก็คล้ายๆ กับวันนี้ที่มีคนถามกัน คือ คนไทยยังไม่พร้อมต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยเป็นเพียงการคิดผ่านคนที่เป็นกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น ในวันที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูป คนไทยเข้าใจประชาธิปไตยตรงกันหรือไม่ เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจมากเสียกว่าคำถามที่ว่า คนไทยเหมาะกับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่เสียด้วยซ้ำ
การปกครองระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในสังคมตะวันตก มีจุดเริ่มต้นที่นครเอเธนส์ในยุคกรีกโบราณ เมื่อกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว คำว่าประชาธิปไตยมาจากภาษากรีกว่า Demokratia แปลว่าการปกครองโดยประชาชน ปัจจุบันเป็นศัพท์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและใช้กันในความหมายที่เป็นบวก แต่ในอดีตประชาธิปไตยมีความหมายในแง่ลบมาตลอด
นักคิดนักปรัชญาคนดังในอดีตส่วนใหญ่ไม่มีใครชื่นชอบประชาธิปไตยนัก เพลโต้ และอริสโตเติล ต่างมองว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยมวลชน ที่ทำให้สังคมสูญเสียโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนที่ทรงภูมิปัญญาและทรัพย์สิน จาโคแบง แกนนำปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส และแจ็กสัน ประธานาธิบดีคนที่ ๗ ของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับประชาธิปไตยเช่นกัน จนถึงศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา มุมมองเกี่ยวกับประชาธิปไตยจึงเปลี่ยนไป การอ้างถึงประชาธิปไตยกลายเป็นแต้มบวกให้กับการปกครองของตนเอง
เมริกันได้ทำการศึกษาเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ๕ ชิ้น เพื่อค้นหาสาระสำคัญของแนวคิดประชาธิปไตย เขาได้ข้อสรุปว่า“ประชาธิปไตย คือการปกครองรูปแบบหนึ่งที่ผู้ปกครองมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อผู้ใต้การปกครอง เพื่อทำให้ผู้อยู่ใต้การปกครองทุกคนสามารถบรรลุถึงเงื่อนไขการเคารพตัวเอง”
ขณะที่แอนดรู เฮย์วูด นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษได้รวบรวมนิยามประชาธิปไตยจากผู้รู้และนักวิชาการหลายสำนัก สรุปได้ว่า “ประชาธิปไตยคือระบบการปกครองโดยคนจนและคนที่ด้อยโอกาส คือรูปแบบการปกครองประเภทหนึ่งที่ประชาชนปกครองตนเองโดยตรงและต่อเนื่อง โดยไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยนักการเมืองอาชีพและพนักงานประจำ ประชาธิปไตยคือสังคมที่ตั้งอยู่บนหลักการของความเสมอภาคกันในโอกาสและความมีคุณธรรมของปัจเจกบุคคลมากกว่าหลักการในเรื่องชนชั้นและสิทธิพิเศษคือระบบสวัสดิการและการจัดสรรที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันทางสังคมให้แคบลง ประชาธิปไตยคือระบบการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนหลักการทางการปกครองโดยเสียงข้างมาก คือระบบการปกครองที่ให้หลักประกันในเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ของฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยการยับยั้งอำนาจของฝ่ายเสียงข้างมาก ประชาธิปไตยคือวิธีการบรรจุบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งสาธารณะด้วยวิธีการแข่งขันต่อสู้เพื่อให้ได้คะแนนเสียงของประชาชน และประชาธิปไตยคือระบบการปกครองที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยไม่ต้องคำนึงว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในระบบการปกครองนั้นหรือไม่
โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงประชาธิปไตย มักคิดว่ามีรูปแบบเดียวเหมือนกันหมดทั้งโลกแต่ประชาธิปไตยมีหลายแบบแตกต่างกัน ลองมาวิเคราะห์รูปแบบของประชาธิปไตยสัก ๔ แบบได้แก่ ประชาธิปไตยแนวดั้งเดิม ประชาธิปไตยแนวปกป้อง ประชาธิปไตยแนวพัฒนาและประชาธิปไตยของประชาชน ซึ่งมีคุณลักษณะปลีกย่อยที่ไม่เหมือนกัน
เริ่มจาก ประชาธิปไตยแบบดั้งเดิมของนครเอเธนส์ ถือเป็นตัวแบบการปกครองประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์และสมบูรณ์แบบมากที่สุด แต่แม้จะมีอิทธิพลสำหรับนักคิดรุ่นหลัง เช่น รุสโซ่และมาร์กซ ลักษณะเด่นคือเป็นการปกครองโดยประชาชนโดยตรง แต่นำมาประยุกต์ใช้ได้จำกัดมากในโลกสมัยใหม่เน้นการทำกิจกรรมหรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ขณะเดียวกันประชาชนยังต้องแบกรับตามหน้าที่และรับผิดชอบในการปกครองบ้านเมือง และตัดสินใจในประเด็นสาธารณะอีกด้วย
ประชาธิปไตยแนวปกป้อง เป็นแนวคิดที่เน้นการให้ประชาชนมีกลไกหรือเครื่องมือในการปกป้องตนเองจากการล่วงละเมิดของรัฐบาล จึงเป็นแนวคิดที่ดึงดูดนักคิดแนวเสรีนิยมในยุคแรกๆ การสร้างพื้นที่ให้กับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลให้กว้างที่สุดเพื่อ46 จุฬาพิช มณีวงศ์ ป้องกันการล่วงละเมิดของรัฐบาลที่มีอำนาจล้นพ้น จึงมีความสำคัญ จอห์นล็อกถือเป็นหัวหอกสำคัญของนักคิดกลุ่มนี้ เขาอ้างว่า รัฐบาลเผด็จการเลวร้ายกว่าสภาวะธรรมชาติที่ไร้รัฐประชาธิปไตยคือระบบการปกครองที่มาจากความยินยอมของผู้ถูกปกครอง ดำเนินการผ่านทางสภาผู้แทนหรือการเลือกตั้ง ตามกำหนดเวลาและที่มีการแข่งขัน แนวคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้รับการสนับสนุนอย่างมีพลังในช่วงท้ายของศตวรรษที่ ๑๘ เช่น เจเรมี เบนแธม ซึ่งเชื่อว่า สิทธิเลือกตั้งเป็นการทั่วไปเป็นหนทางเดียวที่จะส่งเสริมความสุขมากที่สุดสำหรับคนจำนวนมากที่สุด
ประชาธิปไตยแนวพัฒนา ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย รุสโซ่ ซึ่งเห็นว่าประชาธิปไตยคือ เครื่องมือที่ทำให้มนุษย์สามารถบรรลุถึงเสรีภาพหรือความเป็นอิสระ ประชาชนมีเสรีภาพก็ต่อเมื่อเข้าร่วมโครงการโดยตรงและต่อเนื่องในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองและครอบครัว ตลอดจนชุมชน เป็นแนวคิดที่ไกลกว่าแนวคิดดั้งเดิมของประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง และเป็นการสนับสนุนประชาธิปไตยโดยตรงที่รุนแรงมากกว่ารูปแบบตามอุดมคติ ในทัศนะของรุสโซ่ ที่ไม่เพียงต้องการความเสมอภาคทางการเมืองเท่านั้นแต่ต้องการความเสมอภาคทางเศรษฐกิจด้วยเขาเสนอว่า ไม่มีประชาชนคนใดรวยถึงขนาดที่จะซื้ออีกคนหนึ่งได้ และไม่มีใครจนถึงขนาดให้ถูกบังคับต้องขายตนเอง แนวคิดนี้นักคิดซ้ายใหม่ยึดถือ โดยยกย่องคุณความดีของสังคมแบบมีส่วนร่วม เป็นสังคมที่ประชาชนแต่ละคนสามารถบรรลุถึงการพัฒนาตนเองโดยการเข้าร่วมในการตัดสินใจที่กำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตของตนเอง ต่อมา สจ๊วตมิลล์ มาต่อยอดความคิดนี้ โดยเห็นว่าคุณค่าสำคัญของประชาธิปไตยช่วยส่งเสริมการพัฒนาความสามารถของปัจเจกบุคคลได้สูงสุดและก่อให้เกิดความปรองดอง โดยการเข้าร่วมทางการเมือง โดยมิลล์เสนอให้ขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการออกเสียงเลือกตั้งซึ่งควรไปถึงประชาชนทุกคนรวมถึงสตรี และยังได้สนับสนุนให้มีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งและเป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะเป็นการขยายโอกาสให้กับประชาชนในการดำรงตำแหน่งสาธารณะ
ประชาธิปไตยของประชาชน มีที่มาจากระบบมาร์กซิสต์ ต้นแบบคือโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาร์กซเชื่อว่า การโค่นล้มระบบทุนนิยมจะก่อให้เกิดปฏิกริยาที่จะเปิดทางให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงเจริญงอกงามเป็นรูปแบบประชาธิปไตยที่จัดขึ้นสำหรับประเทศคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ ๒๐
จากสถิติของ The Journal of Democracy สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีเพิ่มขึ้นตามลำดับจากปี ค.ศ. ๑๙๗๒ มี ๔๐ ประเทศ ปี ค.ศ.๑๙๙๕ หลังจักรวรรดิโซเวียตล่มสลาย พุ่งเป็น ๑๑๗ ประเทศ ส่วนสถิติของ The Freedom House สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ ๒๐๐๘ มีประเทศประชาธิปไตย ๙๐ ประเทศ ประเทศกึ่งประชาธิปไตย ๖๐ ประเทศ และประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมีเพียง ๔๓ ประเทศ ในจำนวนประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและกึ่งประชาธิปไตยจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดี มีเสถียรภาพมั่นคง ประชาชนทั่วไปมีความพอใจและเชื่อมั่นในระบบปกครอง เช่น ในยุโรป ตะวันตก อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ส่วนประเทศประชาธิปไตยกลางเก่ากลางใหม่ ได้แก่ อินเดีย ฟิลิปปินส์ ไทย ประเทศประชาธิปไตยสมัยใหม่ เช่น ประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ประเทศในแอฟริกามีความผันผวนทางการเมืองสูง และหลายประเทศถูกท้าทายด้วยระบอบอำนาจนิยมหรือระบบเผด็จการอย่างรุนแรง
ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเหล่านี้ยังแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ ระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดีและระบบผสม ระบบรัฐสภามาจากการเลือกตั้งของประเทศ อำนาจสูงสุดเป็นของรัฐสภา รัฐบาลจะอยู่ในอำนาจขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของรัฐสภา เมื่อรัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาก็จะขาดความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป ระบบนี้มีอังกฤษเป็นต้นแบบ ระบบประธานาธิบดีให้ความสำคัญกับฝ่ายบริหารเป็นการออกแบบให้ความเข้มแข็งแก่ฝ่ายบริหาร ไม่ต้องถูกขัดขวางโดยฝ่ายนิติบัญญติ มีการแบ่งแยกอำนาจออกจากกัน ระบบนี้มีสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ และระบบผสม คงโครงสร้างของระบบรัฐสภา และคงอำนาจหน้าที่บางประการของระบบประธานาธิบดี คิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชาร์ลสเดอโกล ของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๙๕๘ หลายประเทศนำไปประยุกต์ใช้ ได้แก่ จีนเกาหลี ไต้หวัน รัสเซีย ยูเครน
ผู้ที่ศึกษาเปรียบเทียบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างสรุปตรงกันว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยคือความพยายามปรับเปลี่ยนระบบการปกครองเดิมให้ประชาชนได้มีส่วนมีเสียงในการกำหนดทิศทางการปกครองและตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ปกครองประเทศ อาจเกิดขึ้นในระยะไล่เลี่ยกันหรือต่างยุคกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์อุดมการณ์ และการเมืองของแต่ละประเทศความเป็นสถาบันของระบอบประชาธิปไตยของแต่ละประเทศจึงไม่เท่าเทียมกัน แต่เกณฑ์๒ ประการที่จะวัดความเป็นประชาธิปไตยอันเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องไม่ลืมก็คือ
หนึ่ง สิทธิทางการเมือง ได้แก่ สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง สิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมือง
สอง เสรีภาพของพลเมือง ได้แก่ เสรีภาพในการพูด เขียน อ่าน สื่อสาร ตีพิมพ์ การชุมชนในที่สาธารณะ
ถึงวันนี้คนไทยคงตัดสินใจได้แล้วว่าต้องการประชาธิปไตยแบบใด…