ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้โดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ทรงทราบสภาพความเป็นอยู่ และปัญหาของราษฎร ทรงได้เห็นแบบอย่างของการทรงงานเสมอมา ประกอบกับพระวิริยะอุตสาหะ ในการแสวงหาวิชาความรู้อยู่เป็นนิจ รวมทั้งน้ำพระทัยที่ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและราษฎรมาโดยตลอด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงไว้วางพระราชหฤทัย มอบหมายพระราชกรณียกิจ ให้ทรงปฏิบัติสืบต่อมา อาทิ

– การบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระที่นั่งวิมานเมฆ
– โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
– พิธีพระราชทานปริญญาบัตร
– โรงเรียนจิตรลดา
– ศิลปินแห่งชาติ
– มูลนิธิชัยพัฒนา
– มูลนิธิอานันทมหิดล
– มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
– มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
– มูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สภากาชาดไทย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โปรดการศึกษาค้นคว้าการเรียนรู้จากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบพระองค์ ต่อมา เมื่อเจริญพระชันษาขึ้น ด้วยความสนพระทัย และพระปรีชาในการเรียน

วิชาการหลากหลายแขนง ทั้งศาสตร์และศิลป์อีกทั้งการเรียนภาษาจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการเรียนรู้วิชาการสาขาต่าง ๆ จึงทำให้ทรงเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรี และปริญญาโทด้านอักษรศาสตร์ และต่อมาได้ทรงศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ในหลักสูตรวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นการนำความรู้ด้านการศึกษาประกอบกับความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ มาร่วมกันใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาประเทศ จากการที่ทรงเห็นความสำคัญของศาสตร์ต่าง ๆ นี้เอง จึงสนพระทัยศึกษาหาความรู้ และติดตามความก้าวหน้าของความรู้ ในด้านอื่น ๆ อยู่เสมอ

จาก “ประวัติศาสตร์” ซึ่งเป็นวิชาการสาขาแรก ที่ทรงเลือกเรียนในระดับปริญญาตรีและยังเป็นวิชาการที่ทรงใช้ในการทรงงานเมื่อทรงเข้ารับราชการ เป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระทัยศึกษาวิชาการด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทั้งทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง และจากบุคคล หน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จนทรงสามารถนำความรู้นั้น มาปรับใช้ในการทรงงานได้ ทรงเห็นว่าความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นครู และนักการศึกษาที่ดี จึงทรงเชื่อมโยงความรู้ของศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อันเป็นประสบการณ์ที่ทรงสิทธิมนุษยชน ทรงห่วงใยในความด้อยโอกาสทางการศึกษาของราษฎรทุกหมู่เหล่า ทั้งชนกลุ่มน้อย และประชาคมเมือง ทุกคนควรมีโอกาสได้รับการศึกษา ได้รับบริการจากภาครัฐโดยเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน ดังที่ได้มีพระราชดำรัสในงานเสวนาทางวิชาการด้านอาหารและโภชนาการ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ความตอนหนึ่งดังนี้

“…ให้คนทุกคนรู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะรับสิ่งดี ๆ ในชีวิต ไม่ใช่ว่าคนอื่นจะเอาอะไรมาให้ก็ได้ หรือว่าผู้ที่มีหน้าที่ดูแลบ้านเมือง หรือดูแลชุมชนต่าง ๆ ก็ต้องรู้ว่าคนอื่นเขาก็มีสิทธิเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น คนด้อยโอกาส หรือบุคคลชายขอบ ที่เรียกกันตอนนี้ว่าคนที่อยู่ในภาวะวิกฤติ ก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือได้รับการดูแล… …ถ้าพูดถึงเรื่องสิทธิ เราก็จะพูดถึงในแง่ว่าคนเรามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ มีสิทธิที่จะอยู่อย่างดี ควรจะได้รับการศึกษา การศึกษานี้เพื่ออะไร เพื่อให้สามารถที่จะพยุงตัวเองและดำเนินชีวิตไปได้อย่างสุขสบาย จะได้เอาความรู้นั้นไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นหรือชุมชนได้อีก…”

288-42

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแนวพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินงาน โดยการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความรู้ความชำนาญ จัดทำเป็นโครงการต่าง ๆ ที่นำแนวพระราชดำริไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งมีหลักการสำคัญในสองแนวทาง คือ แนวทางการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนทุกข์ยากเฉพาะหน้าที่ราษฎรกำลังประสบอยู่ หรือแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ที่มุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาจนสามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งนี้ ได้พระราชทานข้อคิดในการดำเนินงานแก่นักพัฒนา ดังที่ได้มีพระราชดำรัสในงานเสวนาทางวิชาการดังกล่าว ความตอนหนึ่งว่า

“…ที่จริงศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิบัติงานเรื่องการพัฒนา ถ้าเราจะเรียกตัวเองเป็นนักพัฒนา หรือว่าจะเป็นการพัฒนาด้านอาหารโภชนาการหรือด้านอื่น ๆ เรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์น่าจะเป็นไปได้ที่เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิ ประการแรก คือ ให้คนที่เราจะพัฒนาได้กระทำด้วยตัวเอง และอยากเองทำเอง ก็เป็นศักดิ์ศรีของเขา ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นฝ่ายรับอยู่ร่ำไป ถ้าเราไปทำให้ถูกในจุดนี้ได้ ก็เป็นเรื่องการส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์ประการที่สอง ต้องคิดว่าเวลาไปพัฒนา ไม่ใช่่ว่าเราเป็นคนที่สูงเด่นกว่าเขา หรือเป็นคนที่ศักดิ์ศรีสูงกว่าเขา อุตส่าห์ก้มตัวลงไปทำงานกับเขา ถ้าคิดอย่างนั้นก็อย่าไป คือเราไปทำแล้วเห็นคนอื่นใครๆ ต่ำกว่าหมด ทุกคนต่ำกว่าหมด ทุกคนโง่กว่าหมด อย่างนั้นก็คบกันไม่ได้ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ จะไปทำงานกับใครก็ต้องช่วยกัน เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียกว่าไปพัฒนาไปช่วย เขาเรียกว่าความร่วมมือกันทั้งนั้น…”

จากความสนพระทัยในศาสตร์และศิลป์หลากแขนง นำไปสู่พระราชดำริในการริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ทั้งโครงการแบบบูรณาการ อาทิ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ที่มีเป้าหมายหลักในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างครบวงจร และโครงการที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาห้องสมุด เป็นต้น ในปัจจุบัน โครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีทั้งโครงการในประเทศไทยและโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศงบประมาณในการดำเนินงาน ส่วนใหญ่มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมทั้งเงินงบประมาณของหน่วยงานราชการที่ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริ นอกจากนี้ ยังมีเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย ทั้งจากบุคคล หน่วยงานองค์กรหรือองค์การทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ องค์การและหน่วยงานต่างประเทศที่ทูลเกล้า ฯ ถวายการสนับสนุนเพื่อการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริมีเป็นจำนวนมาก เช่น องค์การยูเนสโก องค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ มูลนิธิคาร์ฟูร์ มูลนิธิสุเอซ บริทิช เคาน์ซิล สายการบินแอร์ ฟรานซ์ เป็นต้น