พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระผู้ทรงปรีชาชาญ ด้านการบริหารราชการแผ่นดินและอักษรศาสตร์
พระราชประวัติ พระราชดำริ และพระราชกรณียกิจการปกครอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชสมภพวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๓๑๐ขณะที่พระราชบิดาดำรงตำแหน่งหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี เมื่อเกิดจลาจลในกรุงธนบุรีพุทธศักราช ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบปรามแล้วปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และพระบรมราชจักรีวงศ์จึงทรงดำรงสถานะสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ครั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จทิวงคต จึงได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งพระมหาอุปราช แทนทรงปฏิบัติราชการใกล้ชิดสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงได้เรียนรู้เรื่อง การเมือง การปกครองการทหาร เศรษฐกิจและการจัดระเบียบสังคม
การศึกษา การเมือง การปกครอง
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงศึกษาเบื้องต้นที่สำนักพระวันรัต (ทองอยู่) วัดบางหว้าใหญ่ คือวัดระฆังปัจจุบัน ซึ่งมีชื่อในการฝึกอบรมบุตรหลานขุนนาง จึงทรงพระปรีชาสามารถอักขรวิธีอย่างดี จะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์วรรณคดีไทยทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองจำนวนมาก ทรงสนพระราชหฤทัยศึกษาพระราชกิจทั้งปวงจากพระราชพงศาวดารไทย ตำราเมือง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้รวบรวม คัดลอกพระราชพงศาวดารมีการชำระพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และเรียบเรียงประวัติศาสตร์สืบต่อมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในขณะทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงร่วมสร้างหนังสือพงศาวดารเหนือกับพระยาวิเชียรปรีชา (น้อย) จึงทรงรอบรู้การปกครองบ้านเมืองในอดีตจากพงศาวดารการสร้างความมั่นคงทางการเมือง ลักษณะการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยึดถือความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับตระกูลขุนนางและคหบดีทางการสมรสและระบบอุปถัมภ์ก่อนพุทธศักราช ๒๓๒๕ ตระกูลในราชวงศ์จักรีได้สัมพันธ์กับสกุลใหญ่ ๆ ที่สืบเชื้อสายขุนนางเก่าสมัยอยุธยา เช่น สมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) พระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสมรสกับหม่อมเสม บุตรชาย
สมุหกลาโหมวังหน้า สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระพี่นางเธอพระองค์น้อยสมรสกับเจ้าขรัวเงินบุตรเศรษฐีจีน บ้านถนนตาล ในกรุงศรีอยุธยา มารดาของเจ้าขรัวเงินเป็นน้องภรรยาเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เจ้าขรัวเงินมีฐานะมั่งคั่งมากส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงอภิเษกกับสตรีในตระกูลใหญ่ที่สืบเชื้อสายมอญ มีฐานะทางเศรษฐกิจดีและมีอำนาจทางการเมืองท้องถิ่นในเมืองอัมพวาแถบนั้นมักจะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง เช่น พระยาสมุทรสงคราม (แจ่มจันทร์) ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นตาของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระยาอมรินทราฤาชัย (เสม) ผู้ว่าเมืองราชบุรีสมัยกรุงศรีอยุธยา บิดาของเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง) เป็นหลานร่วมปู่ย่ากับกรมสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีและกรมหลวงนรินทรเทวี (กุ) น้องสาวต่างมารดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสมรสกับกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ (มุก) ผู้เป็นบุตรเจ้าพระยามหาสมบัติ(ผล) แห่งตระกูลพราหมณ์ที่รับราชการเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่มาหลายช่วงและเจ้าพระยามหาสมบัติเป็นอาของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ในรัชกาลสมเด็จพระบรมชนกนาถเกิดเรื่องบาดหมางระหว่างวังหน้ากับวังหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงเสด็จไปยังพระราชวังบวรสถานมงคล ได้สร้างความยำเกรงในบรรดาข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ทำให้ปัญหาในกรณีเช่นนี้ทำให้ทรงตระหนักถึงความสำคัญของอำนาจพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ทรงหาทางแก้ไข ขณะทรงรับราชการในราชสำนักทรงดูแลงานต่างพระเนตรพระกรรณอย่างใกล้ชิด จึงทรงเรียนรู้ด้านรัฐประศาสตร์ ราชประเพณีทรงคุ้นเคยกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่
การเรียนรู้เรื่องการทหาร
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไปราชการสงครามตั้งแต่พระชนมพรรษา ๘ พรรษา ตราบกระทั่งพระชนมพรรษา ๓๐ พรรษา รวม ๑๑ ครั้ง ช่วงระหว่าง ๘ ถึง ๑๕ พรรษา ๗ ครั้ง เริ่มตั้งแต่ขึ้นไปรบพม่าที่เชียงใหม่ กลับลงมารบพม่าที่บ้านบางแก้วเขาชงุ้มเมืองราชบุรี กลับขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ มารบศึกอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองพิษณุโลก จากนั้นเสด็จไปปราบเมืองนางรอง เมืองนครจำปาศักดิ์ และกรุงศรีสัตนาคนหุต ระหว่างพระชนมพรรษา ๑๕ ถึง ๓๐ พรรษา ๔ ครั้ง คือ ศึกลาดหญ้าศึกท่าดินแดงศึกตีเมืองทวาย และเตรียมตีกรุงอังวะโดยเฉพาะศึกตีเมืองทวายทรงรับตำแหน่งยกกระบัตรทัพ การเดินทัพครั้งนี้ลำบากและกันดารมาก ช้างศึกต้องเดินไต่สันเขาทีละตัวถลำตกเขาตายเป็นจำนวนไม่น้อย ทำให้ทรงรอบรู้เข้าพระทัยยุทธศาสตร์การสงครามและการป้องกันบ้านเมือง เริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมกองทัพ ยุทธวิธีการรบ ปัญหาหลากหลายในกองทัพ เช่น ทหารติดฝิ่น การส่งเสบียง การข่าวเพื่อหาความเคลื่อนไหวของศัตรู เป็นต้น
การเรียนรู้เรื่องจัดระเบียบสังคมและเศรษฐกิจ
การศึกสงครามในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำให้ไพร่ คือพลเมืองต้องรับภาระหนัก จึงพากันหลบหนี ทรงตราพระราชกำหนดสักเลกและโปรด ฯ ให้มูลนายเกลี้ยกล่อมไพร่ที่หลบหนีกระจัดกระจายอยู่ให้มารับการสักโดยไม่กำหนดว่าจะสักเป็นไพร่ชนิดใด ตามใจมูลนาย เพื่อจูงใจมูลนายให้หาเลกมาสักได้มาก ๆ ซึ่งการสักเลกครั้งนี้ไม่ได้ผลนักเนื่องจากเจ้าเมืองไม่เป็นใจช่วยข้าหลวงเกลี้ยกล่อมไพร่ในเมืองของตนให้มารับการสัก จึงสักเลกไม่ได้ตามกำลังแท้จริงของมูลนาย เห็นได้จากกรณีขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (หนู) เรื่องสักเลกแม้ว่าจะทรงลดเวลารับราชการของไพร่หลวงลงเหลือปีละ๔ เดือนก็ตามไพร่ก็ยังหลบหนี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตระหนักถึงการดูแลไพร่อย่างยิ่ง เพราะไพร่เป็นกำลังสำคัญเศรษฐกิจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรทรงทำการค้าส่วนพระองค์ จัดสินค้าฝากสำเภาหลวงไปจำหน่ายเมืองจีน แล้วซื้อสินค้าจากจีนกลับมา ทรงมีเรือสำเภาทำการค้าต่างประเทศ ทรงควบคุมการจัดสินค้าต่างประเทศทรงควบคุมการจัดสินค้าลงเรือด้วยพระองค์เอง ทรงให้ความสำคัญของการค้าสำเภา และการค้าขายกับต่างประเทศรวมทั้งรายได้เพื่อทำนุบำรุงแผ่นดิน
พระราชดำริเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง
พระราชดำริเกี่ยวกับการปกครองภายในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการปกครองเพื่อความสงบสุขและความมั่นคง ทรงปกแผ่พระมหากรุณามากกว่าใช้พระราชอำนาจ ในฐานะพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังเห็นได้จากพระบรมราโชวาทว่าด้วยหลักการปกครองพระราชทานแก่พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นกฎในการปกครองบ้านเมือง
พระราชดำริเกี่ยวกับการต่างประเทศพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงวางนโยบายแบ่งแยกและปกครอง ดังปรากฏในการปกครองหัวเมืองประเทศราชส่วนการต่างประเทศทรงดำเนินนโยบายด้วยการทำสงครามการทูต และการค้า
พระราชกรณียกิจในการปกครองบ้านเมือง
การบริหารราชการแผ่นดิน การใช้ความสัมพันธ์ระบบเครือญาติและระบบอุปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนำประสบการณ์ความสัมพันธ์ระบบเครือญาติและระบบอุปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมาดำเนินการสร้างความมั่นคงในราชบัลลังก์ การแต่งตั้งขุนนางเสนาบดีตำแหน่งสำคัญและเจ้านายทรงกรมกำกับราชการ ทรงเลือกสรรพระประยูรญาติและขุนนางที่ใกล้ชิดไว้วางพระราชหฤทัย ตั้งแต่ครั้งทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช