เรือดำน้ำกำลังได้รับความสนใจจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเติมเต็มขีดความสามารถของกำลังทางเรือและแนวโน้มการขยายตัวของกำลังเรือดำน้ำในภูมิภาคจะยังคงมีอยู่ในอนาคตอันใกล้ ด้วยธรรมชาติของปฏิบัติการของเรือดำน้ำที่ต้องอยู่ใต้น้ำในระดับที่ลึกมากและไม่ต้องการให้ถูกตรวจจับได้ ทำให้เกณฑ์เสี่ยงในการปฏิบัติการของเรือดำน้ำอยู่ในระดับที่สูงมาก แต่กระนั้นขีดความสามารถในการกู้ภัยเรือดำน้ำของหลายประเทศที่มีเรือดำน้ำยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเรือกู้ภัยเรือดำน้ำ (Submarine Rescue Ship) เพียง ๒ ลำ คือเรือ MV Swift Rescue ของสิงคโปร์ และเรือ MV Mega Bakti ของมาเลเซีย และเป็นเรือของสิงคโปร์เท่านั้นที่มีขีดความสามารถในการกู้ภัยเรือดำน้ำด้วยยานกู้ภัยน้ำลึก (Deep Submergence Rescue Vehicle, DSRV)

ยานกู้ภัยน้ำลึก เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กที่มีขีดความสามารถในการ “ต่อเชื่อม” (docking) ตัวเองเข้ากับเรือดำน้ำที่ประสบเหตุ (Disabled Submarine, DISSUB) แล้วจมอยู่ในน้ำลึก เพื่อลำเลียงกำลังพลที่ติดอยู่ในเรือดำน้ำที่ประสบเหตุลงยานกู้ภัยน้ำลึกแล้วส่งต่อไปเรือกู้ภัยเรือดำน้ำต่อไป ยานกู้ภัยน้ำลึกถูกพัฒนาขึ้นจากเหตุการณ์ที่เรือดำน้ำ USS Thresher ของกองทัพเรือสหรัฐฯประสบอุบัติเหตุในปี ค.ศ.๑๙๖๓ แนวความคิดในการออกแบบยานกู้ภัยน้ำลึกคือต้องสามารถตอบสนองต่ออุบัติเหตุที่เกิดกับเรือดำน้ำได้อย่างรวดเร็ว ยานกู้ภัยน้ำลึก Mystic (DSRV 1) และ Avalon (DSRV 2) นับเป็นยานกู้ภัยน้ำลึกรุ่นแรกที่เข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐฯในปี ค.ศ. ๑๙๗๐

คุณสมบัติพิเศษของยานกู้ภัยน้ำลึกคือมีขนาดเล็กเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยรถบรรทุก หรืออากาศยาน หรือเรือผิวน้ำ หรือแม้แต่เรือดำน้ำโจมตี (Attack Submarine) ที่ได้ผ่านการปรับแต่งเป็นพิเศษ ยานกู้ภัยน้ำลึกสามารถปฏิบัติได้ในทุกสภาพอากาศและทุกพื้นที่ที่เรือดำน้ำสามารถไปได้ โดยในระหว่างปฏิบัติการนั้นยานกู้ภัยน้ำลึกจะต่อเชื่อมเข้ากับยานแม่ (mother ship) ซึ่งอาจจะเป็นเรือผิวน้ำหรือเรือดำน้ำก็ได้ เพื่อให้ยานแม่นำไปยังจุดที่เรือดำน้ำประสบเหตุอยู่ จากนั้นยานกู้ภัยน้ำลึกจึงจะแยกตัวออกจากยานแม่ แล้วดำน้ำลงไปเพื่อปฏิบัติการกู้ภัยต่อไปยานกู้ภัยน้ำลึกที่มีประจำการอยู่ในปัจจุบัน มีอยู่ทั้งสิ้น ๑๐ แบบ (model) คือแบบออสเตรเลีย จีน ยุโรป อิตาลี ญี่ปุ่นเกาหลี รัสเซีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งขีดความสามารถของยานกู้ภัยน้ำลึกแต่ละแบบ จะพิจารณาในด้านความลึกปฏิบัติการ (Operating Depth) ความเร็วระยะเวลาที่สามารถปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่อง (Operational Endurance) ความสามารถในการสนับสนุนการดำรงชีพยามฉุกเฉิน (Emergency Life Support) มุมสูงสุดสำหรับการต่อเชื่อมกับเรือดำน้ำ (Maximum Mating Angle) น้ำหนักบรรทุกในการกู้ภัย(Rescue Payload) หรือจำนวนผู้รับความช่วยเหลือ และความสามารถในการเคลื่อนย้ายทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

เทคโนโลยีเรือดำน้ำเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการใช้งานทั้งทางทหารและทางพลเรือนอย่างแพร่หลาย ประเทศไทยแม้จะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีเรือดำน้ำแต่กองทัพเรือได้ว่างเว้นจากการมีเรือดำน้ำมาถึง ๕๐ ปี การพิจารณานำเรือดำน้ำเข้าประจำการอีกครั้งจึงเป็นเรื่องที่กองทัพเรือได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ มีการศึกษารายละเอียดที่จำเป็นเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของเรือดำน้ำในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำโดยตรงหลักนิยมของเรือดำน้ำ การฝึกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำหรือแม้แต่การช่วยเหลือกู้ภัยในกรณีที่เรือดำน้ำประสบเหตุและต้องขอรับการช่วยเหลือ อย่างกรณี อุบัติเหตุเรือดำน้ำรัสเซีย K-141 Kursk เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงที่ทำให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนของการช่วยเหลือลูกเรือเปรียบเทียบกับการรักษาความลับทางทหารและทางเทคโนโลยี

โดยปกติสำหรับระบบยานรบแต่ละแบบที่มีประจำการในกองทัพ แต่ละกองทัพจะต้องมีความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันและสามารถให้ความช่วยเหลือได้เมื่อจำเป็น แต่ในกรณีของเรือดำน้ำนั้นเนื่องจากแต่ละประเทศจะมีเรือดำน้ำประจำการในกองทัพของตนเป็นจำนวนไม่มาก และโอกาสที่เรือดำน้ำเหล่านี้จะประสบเหตุขัดข้องถึงขั้นต้องร้องขอความช่วยเหลืออพยพลูกเรือออกจากเรือดำน้ำมีให้เห็นไม่บ่อยนัก การลงทุนในเรื่องของการกู้ภัยเรือดำน้ำเป็นการเฉพาะจึงอาจจะไม่คุ้มค่า ทางออกที่ดีที่สุดคือการแสวงความร่วมมือจากมิตรประเทศและบูรณาการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน การร่วมมือกันในลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ เพราะที่สุดแล้ว ปฏิบัติการร่วมกันนี้โดยพื้นฐานคือ ปฏิบัติการช่วยเหลือ/กู้ภัย ที่ทุกฝ่ายย่อมพร้อมให้ความร่วมมือนั่นเอง