ในขณะที่โลกกำลังจับตามองการก้าวขึ้นสู่ความเป็น “มหาอำนาจ” ของจีนทั้งทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมอยู่นั้น จีนเองก็ตระหนักดีว่าการเติบโตของตนกำลังกลายเป็นที่หวาดระแวงของนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย ทั้งจากมหาอำนาจดั้งเดิมคือสหรัฐฯ และมหาอำนาจใหม่ เช่น ญี่ปุ่นและอินเดีย โดยเฉพาะความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหาร ทำให้จีนต้องพยายามแสดงออกให้โลกเห็นว่า ตนไม่ใช่ภัยคุกคามแต่อย่างใด ดังเช่นมีการกำหนดคำขวัญในการพัฒนากำลังรบของตนเองว่า”การเติบโตอย่างสันติ” (a peaceful rise) รวมทั้งจีนยังประกาศยอมรับกติกาของความเป็น”มหาอำนาจแบบหลายขั้ว” หรือ “โลกหลายขั้ว” (multipolar world) อันหมายถึง โลกนี้ไม่จำเป็นต้องมีชาติมหาอำนาจเพียงขั้วเดียวหรือสองขั้วเท่านั้น นอกจากนี้จีนยังขนานนามสหรัฐฯ ว่า “คู่แข่งทางทหารที่เสมือนเพื่อน” (a near peer military competitor) อันเป็นความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า จีนมองสหรัฐฯ ฉันมิตรแม้จะต้องแข่งขันกันก็ตาม

สหรัฐฯ ฉันมิตรแม้จะต้องแข่งขันกันก็ตามการแสดงออกเหล่านี้เป็นความพยายามของจีนที่ต้องการแสดงให้ทุกฝ่ายเห็นว่า ตนพร้อมที่จะเป็นมิตรกับประเทศต่างๆ ทุกประเทศ แม้ในปัจจุบันจีนจะมีปัญหาข้อพิพาทเหนือดินแดนต่างๆ กับหลากหลายประเทศเช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ไต้หวัน มาเลเซียและบรูไน โดยต่างมีการอ้างกรรมสิทธิเหนือดินแดนที่เป็นข้อพิพาททั้งนี้แม้ว่าจีนยังคงยืนยันในยุทธศาสตร์ที่เน้นการป้องกันประเทศมากกว่าการรุกราน แต่เนื่องจากดินแดนข้อพิพาททั้งหมดเหล่านั้น จนีถือว่าเป็นดินแดนที่ชอบด้วยกฎหมายของตนจึงจำต้องปกป้องผืนแผ่นดินเหล่านั้นอย่างเต็มขีดความสามารถ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จีนตระหนักดีว่าความขัดแย้งทางด้านการเมืองและการทหารกับนานาประเทศนั้น จะเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ต่อการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นมหาอำนาจของตน ดังนั้นจีนจึงหาหนทางประนีประนอมและมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์กับนานาชาติเพื่อลดระดับของข้อขัดแย้งต่างๆ โดยการประนีประนอมดังกล่าวถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ที่ดูเหมือนกำลังพยายามหาหนทางจำกัดการขยายตัวหรือ “ปิดล้อม” จีนมาตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา โดยดำเนินการตามนโยบาย “ปรับสมดุลย์” (Rebalancing) ของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในการหวนกลับมาสู่เอเชียและแปซิฟิค มาตรการประนีประนอมของจีนที่ปรากฏออกมาคือการส่งกำลังพลเข้าร่วมการฝึกทางทหารกับสหรัฐฯ เพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างกันนับตั้งแต่การเข้าร่วมในภารกิจปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมในการฝึกคอบร้าโกลด์ ๑๔ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๕๗ที่ผ่านมา และในการฝึกคอบร้าโกลด์ ๑๕ ในปีนี้ รวมถงึ การส่งกองกำ ลังทางเรือเข้าร่วมการฝึก “ริมแพค” (RIMPAC) เป็นครั้งแรกที่มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายนพ.ศ.๒๕๕๗ ซึ่งการฝึกดังกล่าวนับเป็นการฝึกร่วมทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้จีนยังทำการฝึกทางทหารกับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชาติที่ความหวาดระแวงต่อจีนมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ ดังจะเห็นได้จากการสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๓๕ ของสิงคโปร์ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ หลังจากที่จีนได้เผยโฉมเครื่องบินขับไล่แบบ เจ-๓๑ (J-๓๑) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อแข่งขันกับเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๓๕ โดยเฉพาะ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังอนุญาตให้เรือรบของสหรัฐฯ ใช้ฐานทัพเรือ “ชางงี” ของตนเป็นจุดเทียบท่าของเรือรบดังกล่าว ระหว่างปฏิบัติภารกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วยดังนั้นเพื่อเป็นการลดความหวาดระแวงดังกล่าว จีนจึงได้ทำการฝึกร่วมแบบ “ทวิภาคี” ทั้งทางบกและทางทะเลกับสิงคโปร์ โดยการฝึกทางทะเลของกองทัพเรือทั้งสองประเทศมีขึ้นระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม ถึงวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ ณ เมืองซานเจียงของจีน และมีการฝึกร่วมทางบกภายใต้รหัส”โคออเปอเรชั่น ๒๐๑๔” (Cooperation 2014) ระหว่างกรมทหารราบที่ ๕ และกองพลทหารราบที่ ๓ ของกองทัพบกสิงคโปร์กับกองพลน้อยที่ ๑๗๙ และกำลังพลจากภูมิภาคทหารนานจิง (Nanjing) ของจีน ระหว่างวันที่ ๒ – ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๗ ในพื้นที่เมืองนานจิงของจีนอีกด้วย

สำหรับความตึงเครียดระหว่างจีนและเวียดนาม ภายหลังจากที่จีนเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมัน “ไห่หยาง ชิหยู ๙๘๑” (Haiyang Shiyou 981) หรือที่เวียดนามเรียกว่า “ไฮ ด่วง ๙๘๑” (Hai Duong) เข้าไปในพื้นที่พิพาทใกล้หมู่เกาะพาราเซลเพื่อทำการฝึกซ้อมการใช้เทคโนโลยีในทะเลลึกเพื่อการขุดเจาะน้ำมันระหว่างวันที่ ๒ พฤษภาคมถึง ๑๕ สิงหาคมพ.ศ.๒๕๕๗ จนทำให้ชาวเวียดนามโกรธแค้นและออกมาทำการประท้วงพร้อมทั้งเผาทำลายทรัพย์สินของชาวจีนไปทั่วประเทศ จีนจึงตัดสินใจย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันดังกล่าวออกจากพื้นที่พิพาทก่อนกำหนด ๑ เดือนเพื่อลดความตึงเครียดดังกล่าว นับเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความพยายามของจีนในการลดกระแสต่อต้านลงอย่างเห็นได้ชัด ตามความเป็นจริงแล้วการเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หากมีมาเป็นเวลานานแล้ว โดยสามารถแบ่งออกได้ ๓ ระยะ ระยะแรกอยู่ในช่วงต้นทศวรรษที่ ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นช่วงที่จีนและสภาพโซเวียตยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ถึงจุดเสื่อมทรามอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้นำของจีนคือ”เมาเซตุง” ประกาศการปฏิวัติทางวัฒนธรรมรวมไปถึงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกส่งผลให้เกิดการขัดแย้งอย่างรุนแรงกับสหภาพโซเวียตในที่สุด

การสร้างแสนยานุภาพของจีนในระยะที่สองเกิดขึ้นในช่วงของผู้นำ “เติ้ง เสี่ยวผิง” ซึ่งเป็นช่วงของการก้าวสู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่ของจีน แต่เนื่องจากช่วงนั้นเติ้ง เสี่ยวผิงต้องการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก่อนเป็นลำดับแรก ทำให้กองทัพต้องพัฒนาแสนยานุภาพบนความขาดแคลน โดยเฉพาะงบประมาณทางทหารที่ถูกตัดลงจนเหลือต่ำกว่าร้อยละ ๑.๕ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ”จีดีพี”

ส่วนการสร้างแสนยานุภาพครั้งที่สามเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นห้วงเวลาของสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต่างขนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยเข้าไปทำการรบในประเทศอิรัก ทำให้จีนตระหนักดีว่ากองทัพของตนที่มีกำลังพลมากมายมหาศาลนั้น ตกอยู่ในภาวะที่ล้าสมัยอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอื่นๆ สถาบันยุทธศาสตร์และการทหารของจีนจึงได้มีการกำหนดแนวคิดที่เรียกว่า “การปฏิวัติกิจการด้านการทหาร” (RMA :revolution in military affairs) โดยศึกษาการพัฒนาแนวคิดและหลักนิยมของสหรัฐฯเพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนากองทัพ จนถึงขนาดที่เรียกว่า “.. แปลตำราของสหรัฐฯ ทุกตัวอักษร ..”

ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ซึ่งเป็นช่วงของประธานา-ธิบดีเจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) จีนได้นำแนวคิด “การปฏิวัติกิจการด้านการทหาร” บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และกลายเป็นหลักนิยมในการยุทธของจีนที่กำหนดไว้ว่า”สงครามท้องถิ่นภายใต้สภาวะเทคโนโลยีขั้นสูง” ซึ่งหมายถึง กองทัพจะมุ่งทำการรบในพื้นที่ที่จำกัด โดยใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง การรบในลักษณะนี้จะใช้ระยะเวลาสั้น ทำการอย่างรุนแรง เด็ดขาดและจำกัดพื้นที่และจำกัดเป้าหมายทางการเมือง หลักนิยมดังกล่าวส่งผลให้จีนทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างไปกับการพัฒนากำลังรบทางอากาศ กำลังทางเรือ และกองกำลังปืนใหญ่ที่สอง (Second Artillery Force) ซึ่งเป็นหน่วยที่มีอาวุธหลักคือ ขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ นั่นเอง

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้งระหว่างปีพ.ศ.๒๕๔๕ ถึง พ.ศ.๒๕๔๗ เมื่อจีนตระหนักดีว่าอาวุธที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงยังไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างแสนยานุภาพของตนเนื่องจากโลกได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารที่ทหารทุกนายในแนวหน้าสามารถติดต่อสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร้ขีดจำกัด จีนจึงได้มีการประกาศการพัฒนาระบบสารสนเทศ หรือ C4ISR (Command, Control, Communication, Computer, I : Intelligence, S : Surveillance, R :Reconnaissance) ส่งผลให้กองทัพจีนก้าวเข้าสู่ยุคไซเบอร์เช่นเดียวกับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่น ๆ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบันจีนกำลังพัฒนากองทัพของตน ให้มีความแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อให้ก้าวทัดเทียมกับการพัฒนาของโลกยุคปัจจุบันแต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏควบคู่กับการพัฒนาดังกล่าว คือความพยายามในการหาหนทางประนีประนอมเพื่อลดความขัดแย้งต่าง ๆ ที่อาจจะมีขึ้นได้ เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าระหว่างตนเองกับชาติอื่นๆ ทั้งนี้เพราะประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำของจีนตระหนักดีว่า สงครามและความขัดแย้งคืออุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนและของมวลมนุษยชาตินั่นเอง