ขีดความสามารถของกองทัพไทยในการปฏิบัติการร่วมกับนานาชาติในภารกิจ HA/DR

กองทัพบก ด้านการสนับสนุนของทหารช่าง (Infrastructure Support) เช่น สร้างสะพาน ถนน การค้นหาและช่วยชีวิตแบบ Urban SAR และ Jungle SAR และภัยพิบัติที่มาจากสารเคมีรั่วไหล (Chemical Leakage)

กองทัพเรือ ในการปฏิบัติการนอกประเทศนั้น กองทัพเรือมีเรือขนาดใหญ่ที่สามารถใช้เป็นฐานบัญชาการในการควบคุมบังคับบัญชาและการสื่อสาร ขีดความสามารถด้านการเป็นเรือพยาบาล การอพยพและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นฐานบินของเฮลิคอปเตอร์ และเป็นเรือขนส่งยุทโธปกรณ์ลำเลียงอาหารและเวชภัณฑ์สนับสนุนหน่วยช่วยเหลือด้านบรรเทาภัยพิบัติและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของกำลังกองทัพบกที่ไปปฏิบัติการบนบกได้เป็นอย่างดีทั้งนี้จากการที่เรือสามารถปฏิบัติการในทะเลได้นานทำให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถในการดำรงอยู่ในสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ปฏิบัติการที่ประสบภัยพิบัติในห้วงวิกฤติหลังภัยพิบัติซึ่งมีโรคระบาดและผลกระทบต่อเนื่องของภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม ฝนตกหนักพายุถล่มในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ในปี ๔๗ ทั้งนี้ล่าสุดกองทัพเรือได้ขึ้นระวางประจำการเรือหลวงอ่างทองในปี ๕๕ ซึ่งมีภารกิจโดยตรงในการช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาสาธารณภัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การขนส่งลำเลียงทางทะเล เรือบัญชาการและฐานปฏิบัติการในทะเล จึงเป็นเครื่องยืนยันขีดความสามารถรองรับภารกิจด้านการบรรเทาสาธารณภัยนอกประเทศในภูมิภาคอาเซียนของกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดการใช้กำลังทางเรือเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ทางเรือของสหรัฐ จีน รวมไปถึงหลายชาติในอาเซียนซึ่งเห็นได้ชัดเจนในการที่สหรัฐ จีน สิงคโปร์ และมาเลเซียได้นำเรือเข้าร่วมการฝึกทางทหารอาเซียนด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติของอาเซียนที่ประเทศบรูไนในปี ๕๗ ที่ผ่านมา

กองทัพอากาศ ด้านการขนส่งลำเลียงทางอากาศ การแพทย์ทหาร การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ

หน่วยบัญชาการทหารพัฒนากองบัญชาการกองทัพไทย ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากตึกถล่ม การสนับสนุนด้านสาธารณูปโภค

ทั้งนี้การปฏิบัติการในภารกิจ HA/DR ในการเข้าช่วยเหลือชาติในอาเซียน ด้วยสภาวะแวดล้อมภัยพิบัติที่ต้องการการควบคุมในลักษณะ Secure and Control จากโรคติดต่อในพื้นที่ปฏิบัติการนั้น เห็นควรใช้ศักยภาพของทุกกองทัพให้เต็มที่โดยกองทัพบกเป็นกองกำลังหลัก สนับสนุนด้วยกองทัพเรือและกองทัพอากาศในการลำเลียงหรือเป็นฐาน/ศูนย์บังคับบัญชา จึงจะสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรริเริ่มเน้นการฝึกHA/DR ในเวทีการฝึกร่วมกองทัพไทยและการเข้าร่วมการฝึกร่วมนานาชาติเพื่อเตรียมความพร้อมกองทัพไทย

รูปแบบในการจัดตั้งกองกำลังอาเซียนด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (ASEAN HA/DR Task Forces)

ด้วยแนวโน้มภัยพิบัติขนาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อทุกชาติในอาเซียน ดังนั้นทุกชาติในประชาคมอาเซียนควรต้องปกป้องผลประโยชน์ร่วมโดยการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาถึงจะอยู่รอดและลดความสูญเสียต่อชีวิตผู้ประสบภัย และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมหภาคของอาเซียน จนไปถึงผลกระทบต่อผลประโยชน์หรือตลาดการค้าและฐานการผลิตของประเทศมหาอำนาจเช่น จีน ญี่ปุ่นสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าใหญ่ของอาเซียน ซึ่งได้ทำให้ประเทศเหล่านี้ได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการให้ความช่วยเหลือด้าน HADR แก่ประเทศอาเซียน ทั้งนี้หากจะพิจารณาขีดความสามารถของกองทัพทุกชาติในอาเซียนโดยนำมารวมเป็นกองทัพอาเซียน (ASEAN Combined Task Force) เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาคมอาเซียนเองแล้วจะพบว่ากองทัพอาเซียนมีขีดความสามารถสูงในทุกมิติทั้งกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศอาเซียน ซึ่งเพียงพอกับพื้นที่ปฏิบัติการในภูมิภาคและสามารถนำมาใช้ในการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ การป้องปราม และต่อต้านภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะภารกิจด้าน HA/DR โดยปัจจุบันอาเซียนได้บรรจุความร่วมมือระหว่างกองทัพอาเซียนในเรื่องHA/DR ไว้ในการประชุม ASEAN Defense Ministers’ Meeting-Plus (ADMM Plus) ซึ่งได้มีการพัฒนาการใช้ขีดความสามารถทางทหารร่วมกันผ่านการฝึกร่วมของอาเซียนเช่น การฝึก Humanitarian Assistance & Disaster Relief ณ ประเทศบรูไน และการฝึก AHX14 ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา ประเทศไทยซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งระบบ ASEAN Standby Arrangement System และต่อยอดเป็น ASEAN HA/DR Combined Task Force ในอนาคต

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือการจัดทำแนวทางความร่วมมือทางทหารในเอกสารมาตรฐานวิธีการปฏิบัติและระบบเตรียมความพร้อมด้านการประสานงานการบรรเทาทุกข์และการตอบโต้สถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียน หรือ SASOP ซึ่งเห็นควรจะผลักดันให้มีการดำเนินการในเวทีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาหรือ ADMM-Plus ๘ ประเทศ คือ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียโดยให้ประธานร่วมของคณะทำงาน ADMM – Plus ในวงรอบปี ๒๕๕๗ – ๒๕๕๙ ในด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ญี่ปุ่น) รับผิดชอบจัดการประชุม Workshop หรือจัดการฝึกในลักษณะ TTX รวบรวมข้อคิดเห็นควบคู่ไปกับการฝึกซึ่งจะได้ทั้งภาคทฤษฎีและการทดสอบแนวทางปฏิบัติดังกล่าวผ่านการฝึก CPX ต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติการทางทหารของอาเซียนมีแนวทางและกรอบการปฏิบัติงานร่วมกันที่ชัดเจนรวมไปถึงการพัฒนาเอกสารการปฏิบัติการทางทหารของชาติอาเซียนในเรื่อง HA/DR โดยอาจจะนำเอกสารการปฏิบัติการร่วมนานาชาติ MNF SOP ซึ่งหลายชาติใช้ในการฝึกร่วมกับชาติพันธมิตรมาพัฒนาให้เป็นเอกสารการปฏิบัติการร่วมของทหารในอาเซียนเอง

ระบบเตรียมพร้อมด้าน HA/DR ของอาเซียนควรเป็นอย่างไร ภายใต้ข้อตกลงADMEER ปัจจุบันยังไม่มีการเสนอจัดตั้งกองกำลังเตรียมพร้อมด้าน HA/DR อาเซียน(HA/DR ASEAN Stand-by Arrangement System) เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าควรนำระบบ United Nation Stand-by Arrangement System: UNSAS ซึ่งหลายชาติในอาเซียนใช้ในการส่งกำลังทหารเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ มาเป็นต้นแบบของระบบกำลังเตรียมพร้อมด้าน HA/DR ของอาเซียน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การส่งบัญชีกำลังชุด Stand by Arrangement มาตรฐานการปฏิบัติงานร่วม การฝึกเตรียมพร้อมกองกำลัง เป็นต้น รวมทั้งการจัดตั้งคลัง Disaster Relief Logistic System for ASEAN เพื่อสนับสนุนทุกประเทศอาเซียน สำหรับกองทัพไทยแล้วการพัฒนาขีดความสามารถทางทหารด้าน HA/DR ควรจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมสำหรับกองทัพไทยในลักษณะเดียวกับศูนย์สันติภาพจอมทัพไทย เพื่อสร้างบทบาทนำในอาเซียนด้านการให้ความสำคัญในเรื่อง HA/DR รวมทั้งเป็น Focal Point กองทัพไทยตาม SASOP Process โดยเน้นการฝึกสร้างจุดแข็งพัฒนาเพิ่มในขีดความสามารถของเหล่าทัพและหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ที่มีอยู่ในปัจจุบันและการสร้างเสริมประสบการณ์โดยการส่งกำลังทหารไปภารกิจด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ

สรุปได้ว่าปัจจุบันกองทัพไทยมีความพร้อมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการรองรับภารกิจด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างดีอย่างไรก็ตามกองทัพไทยควรต้องพัฒนากำลังพลที่จะเข้าไปปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศให้มีความเป็นมืออาชีพซึ่งหมายถึง ๑. ทีมระดับยุทธวิธีมีประสบการณ์และขีดความสามารถในภารกิจHA/DR ๒. ทีมวางแผนร่วมมีทักษะและความรู้ในการทำงานภายในศูนย์ประสานงานนานาชาติ (Multi -National Coordination Center: MNCC) ซึ่งเน้นการปฏิบัติการร่วมทหาร – ทหาร และงานการประสานการปฏิบัติร่วมกับศูนย์ประสานงานพลเรือน – ทหาร (Civil – Military Coordination Center : CMCC) ซึ่งต้องมีความรู้ในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายด้านมนุษยธรรมเอกสารหลักปฏิบัติการร่วมนานาชาติที่กองทัพในอาเซียน องค์กรระหว่างประเทศใช้ปัจจุบัน ได้แก่ ASEAN SASOP, MNF SOP APC MADRO และ Oslo Guidelines ได้เป็นอย่างดี และสุดท้ายคือเครื่องมือ ยุทโธปกรณ์และการพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษให้กำลังพล “ก้าวต่อไปของกองทัพไทยในประชาคมอาเซียน” จากวิสัยทัศน์กองทัพไทย “กองทัพไทยเป็นกองทัพ ชั้นนำในด้านความมั่นคงของรัฐและอาเซียน” คงเป็นการยืนยันการวาง Positioning หรือภาพลักษณ์ของกองทัพไทยตามหลักการบริหาร (Management) ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคงจะสามารถตอบคำถามได้ว่าก้าวต่อไปของกองทัพไทยในประชาคมอาเซียนคือ “การก้าวเป็นกองทัพชั้นนำที่มีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียน” ซึ่งภารกิจสนับสนุนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติหนึ่งในภารกิจในการรักษาผลประโยชน์ของชาติร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น Road Map ที่จะนำกองทัพไทยไปสู่การเป็นหน่วยงานความมั่นคงที่มีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียนซึ่งหมายถึงบทบาทนำทั้งนโยบายและบทบาทนำในด้านการปฏิบัติการทางทหารด้าน HA/DR เพื่อให้เป็นที่เชื่อมั่นแก่ประชาชนและกองทัพในประชาคมอาเซียน โดยบทบาทนำด้านนโยบาย ได้แก่ การริเริ่มเสนอมาตรการในการแก้ปัญหาสำคัญของประชาคมอาเซียนในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติร่วมกันของทุกชาติผ่านการประชุมระดับผู้บังคับบัญชาชั้นสูง (Senior Commander) ในเวทีการประชุม รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) และการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพอาเซียน ลงสู่ระดับเสนาธิการ (Staff) ทั้งการประชุมระดับทวิภาคีและพหุภาคี จนพัฒนาเป็นแผนประจำปีกองทัพประชาคมอาเซียน (ASEAN Armed Force Year Plans) ได้แก่ แผนการฝึกร่วมและผสมทั้ง แผนการเยือนผู้บังคับบัญชา การเยี่ยมเมืองท่าของหมู่เรือและอากาศยาน การแลกเปลี่ยนการศึกษา การแลกเปลี่ยนการข่าวและส่งกำลังร่วมกันและที่สำคัญคือแผนการปฏิบัติการทางร่วมกันในลักษณะกองทัพอาเซียน ซึ่งควรจะเริ่มจากการฝึกด้านการบรรเทาภัยพิบัติก่อนเนื่องจากเป็นภัยคุกคามร่วมกัน มีความเร่งด่วนและเป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตประชากรและระบบเศรษฐกิจมหภาคของอาเซียน รวมทั้งเป็นการลดการหวาดระแวงทางการทหาร ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นแล้วในการฝึก ADMM Plus ที่ประเทศบรูไนเมื่อปี ๕๖ สำหรับบทบาทนำในระดับการปฏิบัติการทางทหาร คือ กองทัพไทยต้องมีขีดความสามารถของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกับกองทัพในชาติอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือความเป็นมืออาชีพนั่นเอง โดยหน่วยเตรียมกำลังรบคือเหล่าทัพ ต้องสร้าง “นักรบไทย” ให้มีความเชี่ยวชาญทั้งการวางแผนยุทธการไปถึงการปฏิบัติงานจริงในระดับยุทธวิธีร่วมกับชาติในอาเซียนและพันธมิตร ดังนั้นการพัฒนาองค์ความรู้และการจัดหายุทโธปกรณ์จึงต้องทำควบคู่ไปกับ “การฝึกอย่างไร รบอย่างนั้น” จึงจะได้ความชำนาญและความเป็นทหารมืออาชีพรวมทั้งการปลูกฝังค่านิยมกองทัพไทยได้แก่ ทหารอาชีพ ความจงรักภักดี ความกล้าหาญ และ การทำงานเป็นทีม เพื่อสร้างความภูมิใจในอาชีพในการเป็นทหารอันจะนำไปสู่การมีบทบาทนำในกองทัพชาติอาเซียนซึ่งจะทำให้ประชาชนในอาเซียนเกิดความมั่นใจในคุณค่าของกองทัพอาเซียน คือ “กองทัพอาเซียนที่ประชาคมอาเซียนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ