ท่านทราบหรือไม่ว่า เหงื่อสามารถบอกอาการของโรคต่าง ๆ ได้ หลังการออกกำลังกายนอกจากจะเหนื่อยแล้วเรายังมีเหงื่อออกมามากมาย และสามารถบอกอาการของโรคต่าง ๆ ได้ ลองอ่านกันดูครับ

เหงื่อ (Sweat gland) มี ๒ ชนิด คือ

๑. ชนิดที่สร้างเหงื่อ เรียกว่า ต่อม Eccrine (Eccrine sweat gland) ซึ่งกระจายอยู่มากมายทั่วทั้งร่างกาย ยกเว้นที่ริมฝีปากปลาย อวัยวะเพศชาย และบริเวณปุ่มกระสัน(Clitoris) ของอวัยวะเพศหญิง โดยจะมีมากในบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า

๒. ชนิดสร้างกลิ่นเรียกว่า ต่อม Apocrine(Apocrine sweat gland) ซึ่งมีอยู่เฉพาะจุดคือ บริเวณรักแร้ อวัยวะเพศภายนอก และบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก ซึ่งต่อมชนิดนี้จะเริ่มทำงานในช่วงเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบต่อมเหงื่ออีกชนิดที่เรียกว่า ต่อม Apoeccrine (Apoeccrine sweat gland) เป็นต่อมมีเฉพาะที่รักแร้ และเริ่มทำงานเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มีลักษณะคล้ายทั้ง ๒ ต่อมที่ได้กล่าวแล้ว แต่จะสร้างเหงื่อได้คล้ายกับต่อมEccrine แต่มีการหลั่งเหงื่อที่มากกว่าต่อมEccrine ถึง ๑๐ เท่า และพบจำนวนต่อมได้มากกว่าคนทั่วไปมากเมื่อมีภาวะหลั่งเหงื่อมากในบริเวณรักแร้

ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ หรือเรียกว่า “ภาวะหลั่งเหงื่อมาก หรือภาวะเหงื่อท่วม(Hyperhidrosis)” ได้แก่ ภาวะที่ต่อมเหงื่อชนิด Eccrine สร้างเหงื่อมากผิดปกติจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเข้าสังคม มีกลิ่นตัว และ/หรือต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อย ซึ่งเมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ พยากรณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดเมื่อใด แต่มักเกิดเฉพาะในช่วงกลางวันในช่วงกลางคืนจะปกติ เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากปฐมภูมิ (Primary hyperhidrosis หรือ Idiopathic hyperhidrosis หรือ Essential hyperhidrosis) แต่เมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติเกิดขึ้นโดยรู้สาเหตุ เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากทุติยภูมิ (Secondary hyperhidrosis) เมื่อมีเหงื่อออกมากผิดปกติเป็นเพียงบางแห่งของร่างกาย เช่น รักแร้ ฝ่ามือ และ/หรือฝ่าเท้า ซึ่งมักออกในช่วงกลางวัน เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุด(Focal hyperhidro sis) และเมื่อออกมากผิดปกติทั่วทั้งตัว เรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัว(Generalized hyperhidrosis) ซึ่งเหงื่ออาจออกกลางวัน กลางคืน ทั้งกลางวันกลางคืน หรือเป็นเวลาช่วงไหนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับหลายสาเหตุ

ในภาวะปกติ สามารถพบช่วงมีเหงื่อออกมากกว่าปกติได้ เช่น ในการออกกำลังกายอากาศร้อน อากาศอบอ้าว กินอาหารเผ็ดหรืออาหารร้อน ตื่นเต้น เครียด หรือมีไข้ ภาวะหลั่งเหงื่อมาก เป็นภาวะพบได้บ่อย แต่สถิติที่แท้จริงยังไม่ทราบ เพราะมีผู้ป่วยเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มาพบแพทย์ด้วยภาวะนี้ แต่ประมาณว่า ในประชากรทั้งหมดสามารถพบภาวะนี้ได้ประมาณ ๐.๖ – ๑% โดยพบภาวะนี้ได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และพบในผู้หญิงได้บ่อยเท่ากับในผู้ชาย

เพราะแสงแดดอันร้อนระอุของเมืองไทยเป็นสิ่งที่เราทุกคนยากจะหลีกเลี่ยงได้ นอกจากจะนำมาซึ่งผิวที่จะหมองคล้ำลงจากการถูกแดดทำร้ายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มักจะมาพร้อมกับแสงแดดร้อน ๆ นั่นก็คือ ‘เหงื่อ’ ที่จะรินไหลออกมาจากรูขุมขนทั่วร่างกายของเราอีกด้วย

เหงื่อสามารถเกิดได้ตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย หลายคนมักจะคิดว่า เหงื่อออกเพราะเรารู้สึกร้อนหรือเราเหนื่อยเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว เหงื่อยังเกิดจากอาการของความผิดปกติทางร่างกาย ที่จะสื่อความหมายถึงโรคต่าง ๆ ที่เราเป็นอยู่ได้อีกด้วย ทั้งแบบที่รู้ตัวหรืออาจจะเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งแต่ละอย่างจะแตกต่างกันอย่างไรบ้างนั้น ลองมาเช็คกันดูดีกว่า

เหงื่อจากโรคเครียด
สังเกตดูง่ายๆ สำหรับอาการของโรคเครียด จะมีเหงื่อออกมากบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหน้าผาก ร่วมกับอาการอื่น ๆ คนหัวใจเต้นแรง ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ และอาจมีอาการมือสั่นร่วมด้วย

เหงื่อจากวัณโรค
สำหรับผู้ที่มีอาการของวัณโรคนั้น จะมีเหงื่อออกมาก ทั่วทั้งตัวในบริเวณกลางคืน แม้ว่าจะนอนในที่ ๆ มีอากาศเย็นก็ตาม ทำให้เกิดการนอนกระสับกระส่ายและมีอาการร่วมกับการไอเรื้อรังตลอดทั้งคืน

เหงื่อจากโรคเบาหวาน
สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และมีภาวะขาดน้ำตาลมาก ๆ หรืออาการน้ำตาลต่ำ จะมีเหงื่อออกบริเวณทั่วลำตัว โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า แต่จะไม่ออกมาก ร่วมกับการมีอาการใจหวิวสั่นเหนื่อยหอบนิด ๆ คล้ายจะเป็นลมควบไปด้วย

เหงื่อจากต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือคอพอก
จะมีเหงื่อออกบริเวณทั่วลำตัวโดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือ ร่วมกับอาการมือสั่นหงุดหงิด ตกใจง่าย ผมร่วง ตาโปน และจะรู้สึกหิวน้ำบ่อยกว่าปกติ

เหงื่อจากโรคหัวใจ
จะมีอาการเหงื่อแตกร่วมกับอาการใจสั่น เหนื่อยหอบง่าย โดยเฉพาะช่วงที่ออกกำลังกาย ยิ่งถ้าหากมีอาการแน่นหน้าอก และสังเกตได้ชัดว่าเหงื่อออกบริเวณนิ้วมือและนิ้วเท้าในเวลาที่ออกกำลังกายแล้วด้วยนั้น แสดงว่าคุณมีอาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มาก

เหงื่อจากอาการใกล้หมดประจำเดือน
สำหรับสาว ๆ ที่ใกล้หมดประจำเดือนหรืออยู่ในช่วงวัยทองนั้น สมองจะสั่งการให้ฮอร์โมนเพศหญิงหลั่งน้อยลง ทำให้มักจะมีเหงื่อออกในช่วงเวลากลางคืน

อาการเหงื่อออกลักษณะต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น แม้สามารถบ่งบอกโรคได้ แต่เราก็ควรสังเกตอาการร่วมอย่างอื่นที่ตามมาด้วย และสิ่งที่สำคัญ หากสาว ๆ เป็นคนที่เหงื่อออกมากอยู่แล้ว การดูแลความสะอาดและเสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นสิ่งสำคัญ อย่างเช่นเวลานอน ควรใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับอุณหภูมิห้อง ไม่หนาหรือบางจนเกินไป หรือในช่วงเวลาออกกำลังกายเสื้อผ้าควรถ่ายเทอากาศได้ดี ดูดซับและระบายเหงื่อได้ไว น้ำหนักเบา ยืดหยุ่นได้ดี กระชับและเหมาะสมกับรูปร่าง มีขนาดเหมาะสมกับรูปร่างเพื่อความคล่องตัว และควรเปลี่ยนเสื้อเมื่อเหงื่อออกจนรู้สึกเปียก เพื่อสุขภาพกายที่ดี ไม่เป็นการสะสมเหงื่อและกลายเป็นความสกปรก อันจะนำมาซึ่งโรคผิวหนังอีกหลายอย่างที่คงจะไม่ดีต่อสาว ๆ อย่างแน่นอน

แนวทางการรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมาก ได้แก่

๑. การรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุดโดยไม่รู้สาเหตุ (ภาวะปฐมภูมิ) มีหลายวิธีอาจใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือร่วมกันหลายวิธีขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อแต่ละวิธีการ และดุลพินิจของแพทย์

– โดยทั่วไปจะเริ่มด้วย ยาทาเฉพาะที่ที่เรียกว่า Antiperspirants ทายาตรงตำแหน่งที่เกิดอาการ โดยทาหลังอาบน้ำ หลังเช็ดบริเวณนั้นให้แห้ง ซึ่งยามีคุณสมบัติก่อให้เกิดการอุดตันของท่อเหงื่อและเกิดการฝ่อตัวของต่อมเหงื่อ โดยทายาติดต่อกันทุกคืนจนกว่าเหงื่อจะออกน้อยลง ต่อจากนั้นจะทยอยทายาห่างออกไป เช่น เป็นทุกสัปดาห์ หรือทุก ๒ สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งยามักได้ผลภายใน ๒ วันถึง ๔ สัปดาห์ เมื่อหยุดใช้ยาอาการมักกลับเป็นใหม่ได้อีก

– ยาลดการทำงานของประสาทอัตโนมัติซึ่งมีทั้งชนิดทาเฉพาะที่ และชนิดกิน

– การรักษาโดยวิธีที่เรียกว่า ไอออนโต
ฟอรีสิส (Iontophoresis) คือการใช้กระแสไฟฟ้าพลังงานต่ำเป็นตัวนำโมเลกุลของน้ำธรรมดา หรือของตัวยา เพื่อให้เข้าสู่ผิวหนังเฉพาะที่มีต่อมเหงื่อที่เกิดอาการโดยตรง ซึ่งจะส่งผลให้ต่อมเหงื่อในบริเวณที่ได้รับกระแสไฟฟ้าลดการทำงานลง การรักษาอาจต้องทำอย่างน้อย ๒ – ๓ ครั้ง จึงจะเห็นผล และอาจต้องให้การรักษาซ้ำทุก ๆ ๑ เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับคืนมาอีก

– การฉีดยาโบทอก (Botox หรือ Botulinum toxin) ซึ่งจะลดการทำงานของประสาทอัตโนมัติ จึงลดอาการเหงื่อออก ซึ่งก็ต้องฉีดซ้ำเมื่ออาการกลับคืนมาอีก โดยแต่ละครั้งของการใช้ยา จะเห็นผลภายในประมาณ๑ – ๔ สัปดาห์ และจะควบคุมอาการได้นานประมาณ ๓ – ๕ เดือน

– การผ่าตัด หรือการจี้ปมประสาท(Ga nglion) ของประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมต่อมเหงื่อในตำแหน่งนั้น ๆ ซึ่งมักเห็นผลทันทีภาย หลังรักษา โดยพบอาการย้อนกลับเป็นซ้ำ ได้ประมาณ ๑% ใน ๑ ปี และประมาณ ๒ – ๕ % ในปีต่อ ๆ มา

๒. การรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัวที่ทราบ สาเหตุ (ภาวะทุติยภูมิ) คือการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุ เช่น การรักษาโรคมะเร็ง โรคมาลาเรีย โรคเบาหวาน หรือการปรับเปลี่ยนยาเมื่อเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น