“ทหารผ่านศึกเป็นผู้มีเกียรติเกียรติ เพราะได้เสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวแม้กระทั่งเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อบ้านเมืองและส่วนรวมขอให้ภูมิใจและตั้งใจรักษาเกียรติอันแท้จริงที่มีอยู่นั้นไว้ทุกเมื่อ. “
ข้อความที่อัญเชิญมานี้คือข้อความบางตอนของพระราชดำรัสพระราชทานเนื่องในโอกาสวันทหารผ่านศึก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๓๓ โดยเนื้อหาสาระได้ทรงชี้แนะให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำนึกในบุญคุณแผ่นดินและความเสียสละของบรรดาทหารผ่านศึกที่มีต่อแผ่นดินไทย โดยยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเสียสละชีวิตร่างกายเพื่อส่วนรวมทั้งยังทรงสร้างความภาคภูมิใจในเกียรติยศ ศักดิ์ศรีให้บังเกิดขึ้นในจิตใจของทหารผ่านศึกทุกคน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทหารผ่านศึกจึงสมควรอัญเชิญพระราชดำรัสพระราชทานบทนี้ไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สำหรับเป็นสรรพสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัวสืบไป
ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า เหตุการณ์สงครามเป็นสิ่งที่เลวร้ายเพราะคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการบ้านแตกสาแหรกขาด เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า แต่สิ่งที่ตามมานั้นกลับให้ผลที่ร้ายแรงกว่าคือความทุกข์ของครอบครัวที่สูญเสียผู้นำครอบครัวไปทิ้งให้ต้องอยู่กับความทุกข์ทรมาน ความอดอยาก และทหารบางรายที่ไม่เสียชีวิตแต่ต้องพิกลพิการจากภัยสงคราม และต้องดำรงชีวิตบนความไม่สมบูรณ์ของร่างกาย ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้อย่างแต่ก่อน นับว่าเป็นความทุกข์ทรมานใจอย่างเหลือคณานับ แล้วท่านจะทนดูเขาเหล่านั้นและครอบครัวที่ต้องลำบากลำบนทนทุกข์อย่างแสนสาหัส เพื่อให้ประชาชนข้างหลังทุกคนได้มีความสุขสบายกระนั้นหรือ ?
หากจะกล่าวถึงเรื่องทหารผ่านศึกแล้ว สิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดเสียงสะท้อนต่อสังคมให้หันกลับมาแลมองพวกเขาเหล่านั้น สืบเนื่องมาจากภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีทหารไทยจำนวนมากที่ถูกปลดจากการเป็นทหาร ในขณะที่ยังไม่มีความพร้อมทั้งทางร่างกายหรือทางเศรษฐกิจจึงส่งผลต่อความยากลำบากในการดำรงชีวิตจึงได้เกิดกระแสเรียกร้องขอให้ทางราชการพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการดำรงชีพและด้วยความตระหนักถึงคุณความดีของทหารหาญที่เป็นกองกำลังหลักในการปกป้องเอกราชรักษาอธิปไตยของประเทศ โดยพร้อมเผชิญหน้ากับอริราชศัตรูอย่างไม่หวั่นเกรงต่อภยันตรายใดๆ ทั้งนี้ ทหารทุกคนต่างยอมเสียสละได้ทุกสิ่ง แม้แต่ชีวิต ร่างกาย รัฐบาลในสมัยนั้น จึงได้หาหนทางที่จะให้ความช่วยเหลือโดยมอบหมายให้ กระทรวงกลาโหม เป็นผู้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่ง พลโทชิตมั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น จึงได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน๒๔๘๘ โดยเรียกชื่อว่า “คณะกรรมการพิจารณาหาทางช่วยเหลือทหารกองทุน” เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เหล่าทหารที่สิ้นสุดปฏิบัติการรบและกลับคืนสู่สังคม รวมถึงให้การช่วยเหลือครอบครัวทหารที่ต้องสูญเสียหัวหน้าครอบครัวจากการปฏิบัติการรบ ซึ่งในชั้นต้นยังเป็นเพียงหน่วยงานช่วยเหลือที่ยังไม่เป็นทางการ
แต่ในเวลาต่อมาจำนวนของทหารผ่านศึกและครอบครัวทหารผ่านศึกมีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การดำเนินงานโดยคณะกรรมการจึงไม่รัดกุมและเหมาะสมกับเหตุการณ์ ดังนั้นในปีพุทธศักราช ๒๔๙๐ กระทรวงกลาโหมจึงได้มีดำริที่จะจัดตั้งหน่วยงานขึ้น ต่อมากระทรวงกลาโหมได้เสนอให้รัฐบาลบัญญัติพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น โดยได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล และได้มีการประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ โดยกระทรวงกลาโหมได้ทำการแต่งตั้ง พลโทชมะบูรณ์ ไพรีระย่อเดช เป็นผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกคนแรก โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการให้ความช่วยเหลือแก่ทหารผ่านศึกและครอบครัวในเบื้องต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางราชการจึงได้ยึดเอาวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันทหารผ่านศึก” ต่อมา ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้ปรับเปลี่ยนฐานะจากหน่วยราชการมาเป็นองค์การเพื่อการกุศลของรัฐ และมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ด้วยการตรา พระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พุทธศักราช ๒๕๑๐ขึ้นใหม่ โดยมีการขยายงานให้กว้างขวางมากขึ้นและได้รับการสนับสนุนเงินทุนที่ชัดเจนด้วยเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมและเงินที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นครั้งคราว หลังจากนั้น สภาทหารผ่านศึก สภากลาโหมและรัฐบาลได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เพื่อขยายการสงเคราะห์ให้ครอบคลุมไปถึงทหารตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และ พลเรือนที่ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร ทั้งภายในและภายนอกประเทศตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด กับทั้งให้รวมมูลนิธิช่วยทหารและครอบครัวทหารที่ไปช่วยสหประชาชาติทำการรบ ด้วยการให้การสงเคราะห์ในด้านต่าง ๆ กล่าวคือ
การสงเคราะห์ด้านการเกษตร โดยให้เข้าประกอบอาชีพในนิคมเกษตรกร หรือนิคมประมงขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกให้คำแนะนำในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ การประมงและการใช้เครื่องมือทุ่นแรง ติดต่อประสานงานกับส่วนราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีที่ดินหรือแหล่งน้ำทำกินตลอดจนให้ได้รับความสะดวกในการประกอบอาชีพนั้น ๆ รวมทั้งการฝากเข้าทำกินในนิคมเกษตร นิคมสวนป่า หรือนิคมสหกรณ์ของส่วนราชการอื่น ๆ ตลอดจนของเอกชนและยังเป็นประโยชน์ในด้านการรักษาความมั่นคงอีกด้วย
การสงเคราะห์ด้านอาชีพ โดยจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพให้แก่ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการแนะนำและส่งเสริมการประกอบอาชีพการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น สาขาต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จัดตั้งโรงงานในอารักษ์ เพื่อรับผู้ที่สำเร็จการอบรมจากศูนย์ฝึกอาชีพขององค์การฯ ให้เข้าทำงานที่โรงงานในอารักษ์ จัดหางานให้ทำทั้งในและนอกประเทศและค้ำประกันการเข้าทำงานการสงเคราะห์ด้านสวัสดิการและการศึกษา ซึ่งเป็นการสงเคราะห์ด้านสวัสดิการทั่วไปกล่าวคือ การออกบัตรประจำตัวทหารผ่านศึกให้ความช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติช่วยเหลือเงินเลี้ยงชีพรายเดือนแก่ทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ ช่วยเหลือค่าฌาปนกิจศพกรณีถึงแก่ความตาย ให้คำแนะนำปรึกษาด้านกฎหมายจ่ายเงินช่วยเหลือครั้งคราว จ่ายเงินเยี่ยมเยียนช่วยเหลือทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้การสงเคราะห์ด้านการศึกษาจนจบระดับปริญญาตรีทั้งในและนอกประเทศรวมทั้งให้ทุนการศึกษาแก่บุตรทหารผ่านศึก และการสงเคราะห์ด้านที่พักอาศัย
การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลโดยจัดตั้งโรงพยาบาลทหารผ่านศึกในส่วนกลาง โดยมีที่ตั้งอยู่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไปแก่ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก ทหารนอกประจำการ และบุคคลทั่วไป จัดส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปให้บริการในส่วนภูมิภาคบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจแก่ทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ จัดทำอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ช่วยสภาพความพิการรวมทั้งรับทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพจากโรงพยาบาลของเหล่าทัพมาให้การดูแลรักษาต่อไปจนถึงที่สุด
การสงเคราะห์ด้านการให้สินเชื่อ โดยจัดตั้งกองทุนสงเคราะห์ไว้เพื่อให้สินเชื่อหรือให้กู้ยืมเงินแก่ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึกและทหารนอกประจำการทั้งรายบุคคลและกลุ่มเกษตรกรทหารผ่านศึก โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เพื่อให้นำไปลงทุนในการประกอบอาชีพและอื่น ๆ กล่าวคือ สินเชื่อเพื่อการเกษตรระยะสั้น สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ สินเชื่อเพื่อการสวัสดิการ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน
การสงเคราะห์ด้านการส่งเสริมสิทธิและเกียรติ โดยประสานในการขอสิทธิพิเศษในกิจการต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชน อาทิ การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมบางประเภทให้แก่ทหารผ่านศึกผู้ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ ทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพจากการรบ และครอบครัวทหารผ่านศึกผู้ถือบัตรชั้นที่ ๑ การขอลดค่าโดยสารรถไฟ รถประจำทาง (บางสาย) และเครื่องบิน การประกอบอาชีพของทหารผ่านศึก โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้บรรจุทหารผ่านศึกเข้าปฏิบัติงาน การจัดบำเพ็ญกุศลทางศาสนาในวาระอันเป็นที่ระลึกของทหารผ่านศึก
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนใคร่ขอเรียนต่อสาธารณชนว่า บรรดาทหารผ่านศึกคือผู้ที่ยอมลำบากตรากตรำเพื่อให้พวกท่านมีกิน มีใช้ มีอยู่อย่างสบาย โดยปราศจากภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากภายในและภายนอกประเทศวันนี้เขาเหล่านั้นอาจใช้ชีวิตอย่างยากลำบากหรือครอบครัวอาจต้องเผชิญปัญหาสารพัดจากผลพวงจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการของหัวหน้าครอบครัว ซึ่งเขาเหล่านั้น อาจไม่ส่งเสียงร้องขอจากสังคมเพราะเขารักในศักดิ์ศรีเขาภาคภูมิใจในเกียรติของเขา จึงไม่อาจทำอะไรให้เป็นการทำลายเกียรติภูมิของเขา หากแต่เป็นหน้าที่ของพวกท่านที่จะต้องหวนรำลึกถึงความเสียสละของเขาแล้วหยิบยื่นความรักความปรารถนาดีแก่พวกเขา หรืออย่างน้อยก็ขอให้หวนคิดบ้างว่ายังมีพวกเขาอยู่ร่วมสังคมกับท่าน
ทหารผ่านศึกเหล่านั้น อาจภาคภูมิใจมากยิ่งขึ้น หากสังคมไทยคิดถึงพวกเขาในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ขออย่าเพียงจารึกคำว่าทหารผ่านศึกเพียงในปฏิทิน เพราะท่านอาจอยู่สบายจนลืมนึกถึงวันแห่งความยากลำบากและสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตของทหารหาญเหล่านี้เลยขอเพียงท่านรำลึกถึงเขา ท่านคงจะได้เห็นรอยยิ้มที่เป็นสุขจากเขา ที่คิดว่า สังคมไทยยังนึกถึงเขาอยู่ เพียงปีละหนึ่งวันก็คงพอ