สาระน่ารู้ทางการแพทย์ “หนาวนี้..ระวังโรคทางเดินหายใจในเด็ก”

                                                 สำนักงานแพทย์ สำนักงานสนับสนุนสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

          โรคระบบทางเดินหายใจในเด็กเป็นโรคที่พบได้บ่อยตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอากาศจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว เด็กจะมีอาการทางระบบหายใจได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ทั้งนี้เพราะทางเดินหายใจของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่คือ นอกจากจะมีขนาดเล็กซึ่งจะเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ง่ายแล้วเด็กยังมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่างๆ น้อยกว่าผู้ใหญ่ด้วย

dFQROr7oWzulq5FZYRjfk4kHDuXsKIVF6JgYpNnM6bM6EZHXFQY3JhOhAYcd9Jt9dIF

ระบบทางเดินหายใจนั้นจะเริ่มจากบริเวณโพรงจมูกเป็นด่านแรก ถ้าเปรียบโพรงจมูกนี้กับถ้ำขนจมูกก็คงจะเทียบได้กับรากไม้ที่ห้อยระย้าจากเพดานถ้ำลงมาระเกะระกะเพื่อเป็นตัวดักฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดใหญ่กว่า ๑๐ – ๑๕ มิลลิเมตรไม่ให้เล็ดลอดเข้าไปได้ ผนังและเพดานถ้ำ มี “ระบบปรับอากาศ” อัตโนมัติ ซึ่งประกอบไปด้วยเส้นเลือดฝอยเล็กๆ จำนวนมากมาหล่อเลี้ยงให้ความอบอุ่นและชุ่มชื้นแก่อากาศที่ผ่านเข้ามาเพื่อให้อากาศที่จะลงสู่ปอดมีความชื้นและอุ่นพอเหมาะ ระบบปรับอากาศนี้จะมีไปตลอดทางจนถึงหลอดลมใหญ่

กลไกการป้องกันตัวเองของปอด เยื่อบุทางเดินหายใจเป็นเซลล์ที่เรียงรายอยู่ผิวบนสุดส่วนต้นๆ ของทางเดินหายใจ เซลล์เหล่านี้จะมีรูปทรงสูง มีหลายชนิด เช่น เซลล์ที่มีขนอ่อนอยู่ด้านบน แต่ละเซลล์จะมีขนอ่อนอยู่ถึง ๒๗๕ อัน ขนอ่อนเหล่านี้จะพัดโบกด้วยความถี่ ๑,๐๐๐ ครั้งต่อนาที การพัดโบกนี้ต้องอาศัยน้ำและสารคัดหลั่งที่ผลิตออกมาจากเซลล์อีกชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายถ้วย การโบกของขนอ่อนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือโบกไล่ขึ้นไปส่วนบนด้วยอัตรา ๑๐ มิลลิเมตรต่อนาทีกลไกนี้จึงมีความสำคัญมากในการขับสิ่งแปลกปลอมขนาด   ๑ – ๕ มิลลิเมตรที่หลงเข้าไปในทางเดินหายใจ ฝุ่นขนาดใหญ่จะถูกกรองไว้โดยขนจมูก ฝุ่นขนาดกลางตกลงบนผิวที่มีน้ำและมูกแล้วถูกขับโดยการโบกของขนอ่อน ส่วนฝุ่นขนาดเล็กกว่า ๑ มิลลิเมตร จะลงลึกสุดถึงถุงลมเล็กๆ ในปอดได้บริเวณถุงลมนี้เซลล์จะแบนลง และไม่มีขนอ่อนแล้วเพราะจะต้องทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ ฉะนั้นการทำหน้าที่ต่อสู้เชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมใน ที่นี้จึงต้องอาศัย “พลลาดตระเวน”

“พลลาดตระเวน” คือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง เซลล์นี้มีหน้าที่คอยสำรวจตรวจตราว่ามีศัตรูแปลกปลอมมาหรือไม่ ถ้าพบว่ามีมันจะเดินทางแทรกเข้าไปในระหว่างเนื้อเยื่อและออกมาข้างนอกบริเวณผิวของทางเดินหายใจได้ เมื่อพบเป้าหมายก็จะคืบคลานเข้าไปโอบล้อมและกินเสียก่อนที่ศัตรูจะทำอันตรายต่อปอดในภาวะปกติกลไกเหล่านี้จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจได้แต่ในภาวะบางอย่างเช่น การได้รับควันบุหรี่ ภาวะขาดอาหาร การได้รับสารเสพย์ติดหรือแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดการบกพร่องในการทำงานของขนอ่อนและ “พล ลาดตระเวน”จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

การไอคือ กลไกป้องกันตัวเองอย่างหนึ่งนอกจากกลไกที่กล่าวมาแล้ว หากมีการสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองส่งสัญญาณประสาทจากศูนย์ควบคุมที่สมองลงมาที่กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจให้หดตัวและเพิ่มกำลังในการอัดลมเป่าออกมาอย่างรวดเร็วเกิดเสียงที่เราเรียกว่า “การไอ” นั่นเอง การไอจะขับมูกส่วนเกินในทางเดินหายใจออกไปด้วยความแรงถึง ๓๐๐ มิลลิเมตรปรอทเลยทีเดียว การไอจะเกิดขึ้นเมื่อทางเดินหายใจได้รับความระคายเคืองด้วย เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ เวลาล้มตัวลงนอนแล้วมีน้ำมูกไหลลงในคอก็จะไปกระตุ้นให้หลอดลมหดตัวและเกิดการไอด้วยเสียงไอที่เกิดจากการอักเสบทางเดินหายใจจะมีความแตกต่างกันตามตำแหน่งที่เป็น เช่น ระคายคอจะไอเสียงแห้งๆ ไอจากกล่องเสียงอักเสบจะเป็นเสียงก้องคล้ายเสียงสุนัขเห่าหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบจะไอแบบมีเสมหะอยู่ลึกๆ

890_1

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อาการไอเป็นสัญญาณเตือนว่าเกิดปัญหาขึ้นในระบบหายใจ จึงไม่ควรกินยาระงับการไอโดยยังไม่ทราบสาเหตุของการไอ ยาระงับการไอเป็นยาที่ออกฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมการไอที่สมองจึงต้องเลือกใช้อย่างระมัดระวัง ส่วนใหญ่เด็กที่ไอมักจะเกิดจากมีเสมหะ หากใช้ยาหยุดการไอกลับจะทำให้เสมหะคั่งค้างจึงไม่ได้กำจัดเสมหะที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการไอ ยาแก้ไอที่ใช้ในเด็กส่วนมากเป็นยาขับเสมหะและยาละลายเสมหะ ยาขับเสมหะจะกระตุ้นเยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้เกิดการหลั่งน้ำเมือกในทางเดินหายใจมากขึ้นเสมหะจะมากขึ้นในระยะแรก เมื่อไอไล่เสมหะออกหมดจึงจะหยุดไอ ส่วนยาละลายเสมหะจะลดความเหนียวของเสมหะลง จึงถูกขับออกง่ายขึ้น
ผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมรับประทานยาแก้ไอแล้วเด็กไอมากขึ้น เป็นเพราะยานั้นคือ ยาขับเสมหะไม่ใช่ชนิดกดอาการไอ แพทย์จะพิจารณาใช้ยากดการไอในรายที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เช่น ไอมากจนพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการไอที่เจ็บปวดในคนไข้หลังผ่าตัดหรือไอจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบ

สิ่งที่จะช่วยให้เสมหะออกได้ดีนั้นควรปฏิบัติ ดังนี้

๑.เสมหะไม่เหนียว…ต้องให้เด็กดื่มน้ำมากขึ้น เพราะน้ำคือยาละลายเสมหะที่ดีที่สุด

๒.เสมหะไม่ติดค้างในหลอดลม ช่วยได้โดยการเคาะปอด ในเด็กที่นอนป่วยให้ขยับเปลี่ยนท่านอนพลิกทางซ้ายบ้างทางขวาบ้าง อย่าให้นอนในท่าเดียวนานๆ

๓.รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ยาปฏิชีวนะ และยาละลายเสมหะ

 

e6510df96e-780x408

แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเมื่อพบว่า เด็กนั้นมีอาการของระบบหายใจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลและไอ เชื้อโรคที่เข้ามาในช่วงแรกๆ มักจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสที่เข้ามาในทางเดินหายใจส่วนบนจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารปฏิกิริยาอักเสบ ซึ่งสารนี้ทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงเยื่อบุจมูกขยายเกิดการรั่วของน้ำออกมาจากเส้นเลือด เยื่อจมูกจึงบวมขึ้นหายใจเข้า – ออก ลำบาก เกิดอาการคัดจมูก นอกจากนี้ยังมีการกระตุ้นให้หลั่งมูกออกมามากขึ้นด้วย ดังนั้นน้ำมูกในช่วงแรกๆ จะใสไหลเป็นน้ำก่อนแล้วค่อยๆ ข้นขึ้นเริ่มมีสีขาวขุ่นใน ๒ – ๓ วัน น้ำมูกจะข้นอยู่หลายวันแล้วค่อยๆ กลับเป็นมูกขาวขุ่นและเป็นน้ำใสอีกก่อนที่จะหาย ส่วนอาการไข้จากไวรัสทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ ในผู้ป่วยที่มีไข้จะเป็นในวันที่เริ่มต้นอาการร่วมกับอาการปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เมื่อไข้หายแล้วถึงจะมีอาการไอหวัดตามมา ถ้าแพทย์ตรวจดูแล้วมีอาการดังกล่าวข้างต้นสาเหตุน่าจะเป็นจากไวรัส แพทย์ก็จะไม่ให้ยาปฏิชีวนะแต่จะแนะนำให้พักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ และอาจสั่งยาให้ตามอาการแต่ถ้าหากมีไข้ขึ้นสูงพร้อมๆ กับการมีน้ำมูกข้นเขียวคล้ายหนองเป็นเวลา ๓ – ๔ วัน อาจเป็นข้อบ่งบอกว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเข้ามา ส่วนใหญ่เชื้อไวรัสจะนำเข้ามาก่อน แล้วทำให้ขนอ่อนโบกพัดน้อยลงกลไกการป้องกันอื่นๆ ก็ทำงานน้อยลงด้วยเชื้อแบคทีเรียจึงบุกเข้ามาได้ง่ายขึ้น เมื่อสงสัยว่ามีการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ต้องตรวจหาตำแหน่งของการติดเชื้อว่าเป็นที่ใด เพื่อให้การรักษาได้ถูกต้องต่อไป

ส่วนสุดท้ายของทางเดินหายใจส่วนบนคือ บริเวณกล่องเสียง การอักเสบบริเวณนี้ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบหรืออุดกั้นจนหายใจไม่สะดวก มีเสียงเวลาหายใจเข้า เด็กจะไอเสียงก้องและเสียงแหบ สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบในเด็กอายุ ๖ เดือนถึง ๓ ปีเกิดจากเชื้อไวรัส ถ้าเป็นไม่มากแพทย์จะให้ยาตามอาการและดื่มน้ำให้เพียงพอ

Cute little asian girl is ill lying on sofa bed mother checking a thermometer and touching daughter's forehead in the living room at home. family activity concept.

          สำหรับหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ การอักเสบของทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม หลอดลมฝอยและปอด มักจะมีอาการไข้ ไอ และหายใจหอบ เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายจะวินิจฉัยได้ว่าการอักเสบน่าจะอยู่ที่ใด ถ้าสงสัยว่าปอดอักเสบแพทย์จะถ่ายภาพรังสีของปอดดูว่าเป็นที่ปอดกลีบใด และเป็นมากน้อยเพียงใด การรักษาโรคในกลุ่มนี้อาจจะต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อให้ออกซิเจนยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือยาพ่นฝอยละอองให้สูดดม หากมีเสมหะมากการเคาะปอดช่วยระบายเสมหะจะทำให้เสมหะออกได้ดีขึ้น

หวังว่าบทความทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชัดขึ้นว่าทำไมเด็กๆ จึงมักจะเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจบ่อยๆ ในช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาวอย่างนี้และอย่างน้อยที่สุดจะได้สังเกตอาการเบื้องต้นของเด็กๆ ได้ถูกต้องว่าน่าจะมีความผิดปกติที่ระบบทางเดินหายใจส่วนใดจะได้รีบให้การดูแลได้อย่างเหมาะสมก่อนที่จะพามาให้หมอตรวจรักษาให้ถูกต้องตรงกับโรคต่อไป

………………………………………

 

ที่มา : https://health.mthai.com