เปิดประตูสู่เทคโนโลยีป้องกันประเทศ

 ___________________________________________________________________________________________________________________

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

การดำเนินงานการพัฒนาธุรกิจของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.)

การดำเนินงานการพัฒนาธุรกิจของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) จากมติการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ ๒/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ดำเนินการหารือร่วมกับกองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีมติให้ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ปรับปรุงโครงสร้างและระบบงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยให้ปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ.๑๕๕๑”ให้สามารถสนับสนุนกระทรวงกลาโหม ในการดำเนินกิจการด้านการวิจัยพัฒนาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อความมั่นคง รวมถึงต่อยอดผลการวิจัยและพัฒนาไปจนถึงขั้นการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และที่สำคัญการสร้างรายได้ให้กับประเทศ

ทั้งนี้ สทป. ได้ปรับการบริหารจัดการภายใต้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ.๒๕๕๑ มาเป็นการบริหารจัดการภายใต้พระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ.๒๕๖๒โดยได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ และมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป ภายใต้ชื่อ “สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป.” ซึ่ง พระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ.๒๕๖๒ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การศึกษาวิจัย การผลิตและการนำมาใช้ประโยชน์ โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐอื่นรวมถึงภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศจะส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวในภาคธุรกิจอันนำไปสู่การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในประเทศไทย และเพื่อเป็นการเตรียมการดำเนินการรองรับการประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตามหน้าที่และอำนาจที่ได้รับมานั้น สทป. มีความจำเป็นต้องตั้งหน่วยงาน คือ “หน่วยพัฒนาธุรกิจ” เพื่อรองรับภารกิจที่จะมีขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการแผนการจัดการดำเนินงานหน่วยงานพัฒนาธุรกิจและแนวทางการดำเนินการรูปแบบพัฒนาธุรกิจของ สทป. ดังนี้

๑. ขั้นตอนการเตรียมการดำเนินการของหน่วยพัฒนาธุรกิจ

เนื่องจากตามภารกิจเดิม สทป. เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานวิจัยและพัฒนา ดังนั้น สทป. ยังขาดประสบการณ์และองค์ความรู้ในเชิงพาณิชย์ ประกอบกับธุรกิจอุตสาหกรรมป้องกันประเทศถือเป็นธุรกิจที่ใหม่ในประเทศไทย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาหารือกับผู้ที่มีประสบการณ์เพื่อทำการศึกษาโครงสร้างและแนวทางหรือวิธีการในการประกอบธุรกิจ เช่น การร่วมทุนหรือการแต่งตั้งผู้แทน เป็นต้น รวมทั้งต้องศึกษาข้อกฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบต่างๆ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติถูกต้อง และพิจารณาโครงการนำร่องเบื้องต้นจากขีดความสามารถของ สทป. ที่มี และรวมถึงความสนใจของภาคเอกชนที่จะร่วมมือกับ สทป.

๒. รูปแบบและแนวทางการลงทุนที่ สทป. สามารถดำเนินการได้

ในเบื้องต้น สทป. ได้มีแนวคิดรูปแบบหรือแนวทางการดำเนินธุรกิจเป็นลักษณะการร่วมทุน การร่วมดำเนินการ และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต่างๆ ของ สทป. ตามบทบาทใน พ.ร.บ.เทคโนโลยีป้องกันประเทศนั้น สทป. สามารถที่ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ได้ อาทิ ร่วมวิจัย ร่วมผลิต การแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย หรือเป็นการส่งเสริมภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรม ทั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การร่วมทุนและหลักเกณฑ์การตั้งผู้แทนจำหน่าย

          ๓. การพิจารณาโครงการนำร่องในการพัฒนาธุรกิจ

เพื่อการดำเนินการด้านพัฒนาธุรกิจในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอย่างเป็นรูปธรรม  สทป. จึงพิจารณาโครงการนำร่องในการดำเนินธุรกิจ โดยการกำหนดโครงการนำร่องนี้ เกิดขึ้นจากความสอดคล้องของโครงการที่เป็นไปตามแผนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและแผนยุทธศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งได้กำหนดหลักการพิจารณาออกเป็น ๓ประเภท ดังนี้

๑. เป็นโครงการที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาของ สทป. เกิดต้นแบบที่ผ่านมาตรฐานรับรองการใช้งาน และมีความพร้อมในการดำเนินการ

๒. เป็นโครงการที่ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจ ในการเข้ามาร่วมลงทุนกับ สทป.

๓. เป็นโครงการที่ สทป.เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนไทย โดยใช้อำนาจตาม
พ.ร.บ. เทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ.๒๕๖๒ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในด้านการพึ่งพาตนเอง
ลดการนำเข้าซึ่งยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ และประหยัดงบประมาณของรัฐตามนโยบาย  S – CURVE 11

รวมทั้ง สทป. จะพิจารณาจากขีดความสามารถของ สทป. ที่มี และรวมถึงความสนใจของภาคเอกชนที่จะร่วมมือกับ สทป.ด้วย ในเบื้องต้น จากหลักการที่ สทป. ได้กำหนดไว้นั้น สทป. จึงได้พิจารณาโครงการนำร่อง ๘ โครงการ ประกอบด้วย

                   ๑. โครงการซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ทางทหาร

๒. โครงการปืนใหญ่และกระสุน

๓. โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง หรือ OPV

๔. โครงการยานเกราะล้อยางแบบ ๔ x ๔

๕. โครงการยานเกราะล้อยางแบบ ๘ x ๘

๖. โครงการอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV

๗. โครงการความร่วมมือด้านยานยนต์ทางทหารกับสาธารณรัฐเช็ก

๘. โครงการจรวดเพื่อความมั่นคง

โดยทั้ง ๘ โครงการอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทำแผนพัฒนาธุรกิจและการร่วมทุน เพื่อรองรับและสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตาม พ.ร.บ.เทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ.๒๕๖๒ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม ซึ่งในขณะนี้ สทป. ได้เตรียมการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจให้เป็นไปตามนโยบายและอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. เทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ.๒๕๖๒ และสร้างหน่วยธุรกิจที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในลักษณะเชิงพาณิชย์ต่อไป