ความหมายสำคัญของธงชัยเฉลิมพล มี 3 ประการ คือ
ผืนธง หมายถึง ชาติ
บนยอดธงบรรจุพระพุทธรูป หมายถึง พุทธศาสนา
เส้นพระเจ้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์
ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร องค์พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่หน่วยทหารเป็นคราว คราวละหลายธง โดยประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา คือ พระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีนี้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นผู้ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรึงธงแต่ละผืนติดกับด้ามธง โดยทรงตอกฆ้อนเงินลงบนตะปูทองเหลือง ที่ส่วนบนของคันธงจะมีลักษณะเป็นปุ่มโลหะกลึงกลมสีทองภายในกลวง ปุ่มกลมนั้นทำเป็นฝาเกลียวปิด-เปิดได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงบรรจุเส้นพระเจ้า พร้อมด้วยพระพุทธรูปที่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกแล้ว ชื่อ พระยอดธง ลงในปุ่มกลมแล้วทรงปิดฝาเกลียวขันแน่น ทรงเจิมแป้งกระแจะจันทน์ที่ยอดธงทุกคัน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ตั้งแต่เริ่มพิธีจนจบพิธี
ซึ่งธงชัยเฉลิมพลนั้น เดิมเรียกว่า “ธงประจำทัพ” ซึ่งมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับทหารทุกนายเพราะถือว่าเป็นตัวแทน จอมทัพ และเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารทั้งปวงเมื่อธงนี้โบกสะบัดอยู่ ณ ที่ใดย่อมหมายความว่า พระเจ้าอยู่หัวฯ ประทับอยู่ ณ ที่นั้น จำเป็นที่ทหารทั้งหลายจะต้องติดตามธงนั้นจนถึงที่สุด และต้องคุ้มครองป้องกันธงชัยเฉลิมพลไว้ด้วยชีวิตตนเอง เพราะถ้าธงตกถึงเงื้อมมือศัตรูย่อมหมายถึงการสูญสิ้นซึ่งจอมจตุรงค์ สำหรับธงชัยเฉลิมพลจะมีลักษณะคล้ายธงชาติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นผู้ทรงประกอบพระราชพิธีด้วยพระองค์เอง
ดังนั้น การเชิญธงชัยเฉลิมพลออกจากหน่วยและเข้าร่วมพิธีการใดก็ตามจะต้องกระทำอย่างสมเกียรติมีขั้นตอนที่สมบูรณ์ที่สุด และผู้ถือธงจะต้องได้รับการเลือกสรรอย่างดี หากเปรียบในสมัยโบราณผู้ที่จะต้องนำธงชัยเฉลิมพลออกร่วมทำการรบ พลประจำธงจะต้องเป็นผู้ที่แข็งแรง มีความสามารถ และต้องรักษาธงชัยเฉลิมพลไว้ได้ด้วยชีวิต