วันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมกองทัพอากาศ ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษา ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย นำคณะทีมงานเข้าหารือและติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ กับทีมผู้บริหารกองทัพอากาศ นำโดย พลอากาศเอก เสกสรร คันธา เสนาธิการทหารอากาศ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ
สืบเนื่องจากการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกันระหว่าง “รัฐบาล” โดยบอร์ดแก้หนี้ และ “ผู้นำเหล่าทัพ ด้วยหยิบยกประเด็นปัญหาจากข้อเท็จจริง การหักเงินเดือนจนไม่เหลือดำรงชีพ การถูกฟ้องร้องบังคับคดี ฯลฯ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดเป็นเวลาหลายเดือน มูลหนี้รวมของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งส่วนของสหกรณ์และสถาบันการเงิน มีมากถึง 3 ล้านล้านบาท ซึ่งคิด เป็นสัดส่วน 1 ใน 5 จาก หนี้ภาคครัวเรือน 16 ล้านล้าน ข้าราชการทหารทุกเหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทัพไทย และกลาโหม มีจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับ สินเชื่อสวัสดิการ มากถึง 2.4 แสนราย ยอดหนี้ 0.13 ล้านล้านบาท
นำมาสู่การแถลงข่าวร่วมของผู้นำเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการรับนโยบายแก้หนี้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามคำสั่งการณ์นายกรัฐมนตรี 22 ธันวาคม 2566 เน้นแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยชูประเด็น
• บทบาท “นายจ้างเจ้ากระทรวง” ในฐานะ ผู้ดูแลข้าราชการในสังกัดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี หลุดพ้นจากบ่วงปัญหาหนี้สิน ทั้งในและนอกระบบ และปลดเปลื้องจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทางการเงิน
• ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องมีเงินดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีตามสิทธิรัฐธรรมนูญ ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 30 หรือ 9,000 บาท
• สินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือน ที่มีความเสี่ยงน้อย ให้เหมาะสม
ที่ประชุมติดตามความคืบหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินของกำลังพลกองทัพอากาศตามนโยบายรัฐบาล ประกอบด้วย ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บริหารระดับสูง ทีมงานคณะกรรมการกำกับฯ พร้อมด้วย กรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์ออมทรัพย์ทหารอากาศ สถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ประธานฯ ผู้แทน ผู้บัญชาการทหารอากาศ มีมติเร่งรัดนโยบาย บทบาทนายจ้างของส่วนราชการ หลักที่สำคัญ ได้แก่
สรุป 5 มาตรการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการ
การควบคุมการกู้ยืมให้อยู่ในศักยภาพ
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 4.75% สอดคล้องกับความเสี่ยงและสมกับเป็นสวัสดิการ
Residual Income ไม่ต่ำกว่า 30% หรือ 9,000 บาทสำหรับใช้จ่ายดำรงชีพ
นายจ้างเป็นคนกลางเข้าไปไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาข้าราชการที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ให้ตัดเงินต้นก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อความเป็นธรรม
ทั้งนี้ กองทัพอากาศ โดย ท่านผู้บัญชาการทหารอากาศ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินกองทัพอากาศ สหกรณ์หน่วยขึ้นตรงกองทัพอากาศ กรมส่งเสริมสหกรณ์พื้นที่ 2 และธนาคารพาณิชย์ที่มี MOU กับกองทัพอากาศ จะดำเนินการนำนโยบายเหล่านี้ไปขับเคลื่อนโดยเร็วที่สุด คาดการณ์ว่าจะช่วยให้ ข้าราชการจำนวน 8,340 ราย จากจำนวน ข้าราชการทหารอากาศ ทั้งระบบ 36,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.83 กลับมามีเงินเหลือสุทธิต่อเดือน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 หรือ 9,000 บาท ในงวดเดือน มิถุนายน 2567
Action Plan ในเรื่องสำคัญ
1.จัดทำระเบียบการหักเงินเดือนของกองทัพอากาศในลักษณะเดียวกับของ ศธ
2.กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรม
กำลังพลที่มี residual income เหลือน้อยกว่า 30%
กำลังพลที่กำลังถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องดำเนินคดี
กำลังพลที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิตหนี้ สินเชื่อส่วนบุคคล
กำลังพลที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ