พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลผลงานนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหม ประจำปี ๒๕๕๙ จำนวน ๑๒ ผลงาน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แก่ข้าราชการ และบุคลากรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง กลาโหม ในการคิดค้น สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานและกองทัพ รวมทั้งเพื่อคัดเลือกผลงานนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมประกวดรางวัลนวัตกรรมในระดับชาติต่อไป ณ ห้องพินิตประชานาถ ในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่สังกัดกระทรวงกลาโหมร่วมในพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน
ทั้งนี้สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (UAV) รวมทั้งสั่งการให้แต่ละกระทรวงคิดค้นนวัตกรรมเพื่อเป็นผลงานของหน่วย และเพื่อให้หน่วย ที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาในเรื่องดังกล่าวมีการบูรณาการร่วมกัน ปลัดกระทรวงกลาโหมจึงได้กรุณามอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนกลาโหมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเพื่อบูรณาการในการใช้ การวิจัย การพัฒนาให้เกิดเอกภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุป ในการดำเนินการและเผยแพร่ผลงานของหน่วยต่อไป ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กรุณาแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการประกวดและบูรณาการนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหมขึ้น โดยมีรองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกรรมการ เจ้ากรมกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ที่สำคัญคือ การกำหนดแนวทางในการจัดการประกวดนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหมให้ครอบคลุม ทั้งในส่วนของนวัตกรรมทั้งด้านหลักการ กระบวนการ บริหารจัดการ และนวัตกรรมที่เป็นสิ่งประดิษฐ์/ยุทโธปกรณ์และบูรณาการการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของกระทรวงกลาโหมให้เกิดเอกภาพ
ในปี ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ได้เริ่มจัดการประกวดผลงานนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยของกระทรวงกลาโหม ได้นำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาที่ดำเนินการสำเร็จแล้ว และมีการนำไปใช้ประโยชน์แก่หน่วยงานกองทัพ เข้าประกวดเพื่อรับรางวัลนวัตกรรมในระดับกระทรวงกลาโหม รวมถึงสนับสนุนนักวิจัยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศเข้าร่วมประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๘ ซึ่งจัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ ซึ่งผลงานนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหมได้รับรางวัลรองชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม อันดับ ๑ คือ เครื่องรบกวนสัญญาณแบบสะพายหลังป้องกันการจุดระเบิดแสวงเครื่อง รุ่น NPB-312 ของศูนย์การทหารราบ นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกของกระทรวง กลาโหมที่สามารถนำผลงานนวัตกรรมที่เป็นยุทโธปกรณ์ด้านความมั่นคงสำหรับป้องกันการสูญเสียชีวิตให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงอันตรายไปได้รับรางวัลในระดับชาติ
สำหรับในการประกวดผลงานนวัตกรรม ประจำปี ๒๕๕๙ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ได้จัดการประกวดขึ้นระหว่างวันที่ ๔ – ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ มีผลงานเข้าร่วมการประกวดรวมทั้งสิ้น ๒๘ ผลงาน สำหรับผลงานนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหมแบ่งออกเป็น ๒ ด้าน คือ ๑. นวัตกรรมด้านหลักการ จำนวน ๑ กลุ่ม ๒. นวัตกรรมด้านยุทโธปกรณ์ แบ่งเป็น ๕ กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มระบบการสื่อสาร สารสนเทศและคอมพิวเตอร์ กลุ่มเครื่องช่วยฝึกและการป้องกันกำลังรบ กลุ่มสิ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และบรรเทาสาธารณภัย กลุ่มวิศวกรรมยานรบและอากาศยาน และกลุ่มยุทธภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการรบและการช่วยรบ โดยรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมด้านหลักการ ได้แก่ การสำรวจแมลงพาหะและสัตว์รังโรคของเชื้อก่อโรคไข้ริคเค็ทเซียในพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารตามแนวชายแดนประเทศไทย ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศร่วมกับข้อมูลภูมิศาสตร์ของพื้นที่สำรวจ สร้างผลการวิจัยเป็นแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อโรคที่เข้าใจง่ายและพร้อมใช้งานทันที
สำหรับรางวัลชนะเลิศด้านยุทโธปกรณ์ กลุ่มระบบการสื่อสาร สารสนเทศและคอมพิวเตอร์ ได้แก่ โปรแกรมเข้ารหัสข้อความลับและซ่อนลงในเอกสารภาษาไทย กลุ่มเครื่องช่วยฝึกและการป้องกันกำลังรบ ได้แก่ โครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องฝึกบินจำลอง เครื่องบินฝึก (บ.ฝ.) แบบที่ ๒๐ (DA-42) ต้นแบบ กลุ่มสิ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ ชุดตรวจวินัจฉัยโรคสครับไทฟัสชนิดเร็ว dot-ELISA โดยใช้แอนติเจนสังเคราะห์ เป็นกล่องชุดตรวจ อ่านผลการตรวจได้ด้วยตาเปล่า กลุ่มวิศวกรรมยานรบและอากาศยาน ได้แก่ การสร้างต้นแบบเครื่องบินทะเลขนาด ๒ ที่นั่ง (พิเศษ) ภายในประเทสด้วยคอมโพสิท เป้นอากาศยานสามารถวิ่งขึ้น-ลง ได้ทั้งบนบกและทางผิวน้ำใช้ในการเข้าพื้นที่เป้าหมาย มีขนาด ๒ – ๔ ที่นั่ง กลุ่มยุทธภัณฑ์สนับสนุนการรบและการช่วยรบ ได้แก่ เครื่องรบกวนสัญญาณ DTMF วิทยุสื่อสาร แบบสะพายหลัง รุ่น NPB-812 เป็นเครื่องมือสำหรับป้องกันการจุดระเบิดผ่านย่านความถี่วิทยุสื่อสาร