สถาบันพระปกเกล้า ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการบริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่างๆ พ.ศ. 2559 ในระหว่างวันที่ 25 ก.ค. – 3 ส.ค. 2559 ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มาจากการสุ่มตัวอย่างตามหลักสถิติกระจายทุกจังหวัด ทั่วประเทศ จำนวน33,420 คน แบ่งเป็นประชาชนในเขตเทศบาล 17,460 คน และนอกเขตเทศบาล 15,960 คน ผลการสำรวจสรุปประเด็นที่สำคัญได้ดังนี้

1.การติดตามข่าวสารทางการเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.4ระบุว่าเคยทราบข่าวสาร (โดยผู้ที่เคยทราบข่าวสารระบุว่าทราบจากสื่อโทรทัศน์ (ฟรีทีวี) มากที่สุด ร้อยละ 93.7 รองลงมา คือ พูดคุยกับบุคคลอื่นๆ ร้อยละ 28.6 หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 15.3 อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 11.7 หอกระจายข่าว ร้อยละ 8.5 เคเบิ้ลทีวี ร้อยละ 6.4 วิทยุ ร้อยละ 6.2 นิตยสาร/วารสาร ร้อยละ 0.4 และอื่นๆ ร้อยละ 0.1ขณะที่ ร้อยละ 16.6 ระบุว่าไม่เคยทราบข่าวสาร

2.ความคิดเห็นต่อรัฐบาล 2.1 การติดตามการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนร้อยละ 66.8 ระบุว่าติดตามการทำงานของรัฐบาลเป็นบางครั้งบางคราว ร้อยละ 16.9 ระบุว่าติดตามเป็นประจำ อีกร้อยละ 16.3 ระบุว่าไม่ได้ติดตาม ปชช.ทราบนโยบายคุมล๊อตเตอรี่มากที่สุด – พอใจ ปกป้องสถาบัน สูงสุด

2.2 นโยบายรัฐบาล (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ประชาชนทราบและมีความพึงพอใจ 5 อันดับแรก ซึ่งพบว่านโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการที่ประชุมทราบ 5 อันดับแรก คือ การควบคุมราคา สลากกินแบ่งรัฐบาล 80 บาท ร้อยละ 95.9 การจัดการเรื่องเบี้ยยังชีพ (ผู้สูงอายุ คนพิการ) ร้อยละ 95.4 โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง/30บาท รักษาทุกโรค)ร้อยละ95.3 การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 89.2 และแก้ไขปัญหาสินค้าอุปโภค บริโภคราคาแพง ร้อยละ 87.5

ส่วนประชาชนที่ทราบนโยบายของรัฐบาลระบุว่านโยบายของรัฐบาลที่พึงพอใจ 5 อันดับแรก คือ การปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ร้อยละ 97.2 การควบคุมราคา สลากกินแบ่งรัฐบาล 80 บาท ร้อยละ 93.5 โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง/30บาท รักษาทุกโรค) ร้อยละ 92.9 การจัดการเรื่องเบี้ยยังชีพ (ผู้สูงอายุ คนพิการ) ร้อยละ 92.6 การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดิน ป่าไม้ ทะเล ร้อยละ 91.4

2.3ความสามารถในการแก้ไขปัญหาสังคม/เศรษฐกิจของรัฐบาล จากการสอบถามเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านสังคมของรัฐบาล พบว่า ประชาชน ร้อยละ 59.6 ระบุว่าแก้ไขได้บ้าง ส่วนผู้ที่ระบุว่าแก้ไขได้อย่างมาก มีร้อยละ 25.5 และแก้ไขได้เพียงเล็กน้อย มีร้อยละ 13.6 อีกร้อยละ 1.3 ไม่สามารถแก้ไขได้เลย ส่วนการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพบว่า ประชาชนร้อยละ 59.9 ระบุว่าแก้ไขได้บ้าง และร้อยละ13.7 ระบุว่าแก้ไขได้เป็นอย่างมาก ส่วนแก้ไขได้เพียงเล็กน้อย มีร้อยละ 22.1และไม่สามารถแก้ไขได้เลย ร้อยละ 4.3

3.ความเชื่อมั่นที่มีต่อการทำงานของคณะบุคคล/สถาบัน/หน่วยงานต่างๆ ที่ประชาชนค่อนข้างเชื่อมั่นถึงเชื่อมั่นมากอยู่ในระดับที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ ร้อยละ 80 ขึ้นไป คือ ทหาร ร้อยละ 85.8 นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 84.6 แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ ร้อยละ 84.7 แพทย์ในโรงพยาบาลของเอกชน ร้อยละ 83.7 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ร้อยละ 82.6 และข้าราชการพลเรือน ร้อยละ 81.3

สำหรับคณะบุคคล/สถาบัน/หน่วยงานต่างๆ ที่ประชาชนค่อนข้างเชื่อมั่นถึงเชื่อมั่นมาก อยู่ระหว่าง ร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 77 ได้แก่ รัฐบาล/คณะรัฐมนตรี (ครม.)ร้อยละ 76.2 โทรทัศน์ ร้อยละ 72.4 เจ้าหน้าที่ที่ดิน ร้อยละ 68.8 ผู้ว่าราชการจังหวัด ร้อยละ 67.8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ./เทศบาล/อบต./สำนักเขต) ร้อยละ 65.2 เจ้าหน้าที่ศุลกากร ร้อยละ 65.0 ตำรวจ ร้อยละ 64.4 สมาชิกสภาท้องถิ่น (ส.อบจ./สท./ส.อบต./สก./สข.) ร้อยละ 63.8 หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 62.1 วิทยุกระจายเสียงทั่วไป ร้อยละ 58.4 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร้อยละ 55.3 วิทยุชุมชน ร้อยละ 54.2 และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ร้อยละ 52.4

และคณะบุคคล/สถาบัน/หน่วยงานต่างๆ ที่ประชาชนค่อนข้างเชื่อมั่นถึงเชื่อมั่นมาก น้อยกว่า ร้อยละ 50 ได้แก่ สภาองค์กรชุมชน ร้อยละ 45.4 สถาบันพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง (ไม่เจาะจงพรรคใดพรรคหนึ่ง) ร้อยละ 39.7 องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ร้อยละ 37.2 ส่วนพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 35.5 และพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 34.2

4.ความเชื่อมั่นต่อการทำงานขององค์กรอิสระ จากผลการสำรวจ พบว่า องค์กรอิสระที่ประชาชนเชื่อมั่น (ค่อนข้างเชื่อมั่นถึงเชื่อมั่นมาก) ต่อการทำงานมากที่สุด คือ ศาลยุติธรรม ร้อยละ 84.5 รองลงมา คือศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองมีสัดส่วนของความเชื่อมั่นใกล้เคียงกัน ร้อยละ 81.8 และร้อยละ 81.7ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้อยละ 72.1 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้อยละ 71.2 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ร้อยละ 70.9 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ร้อยละ 66.1องค์กรอัยการ ร้อยละ 65.0 สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อการทำงาน ร้อยละ 62.3

5. ความพึงพอใจต่อการบริการสาธารณะที่รัฐและท้องถิ่นจัดให้ 5 อันดับแรก คือ ไฟฟ้า ร้อยละ 89.9 โรงเรียน ร้อยละ 88.4 ศูนย์เด็กเล็ก ร้อยละ 83.0 การบริการสาธารณสุขและศูนย์อนามัย ร้อยละ 82.2 ถนน ร้อยละ 81.9

6. ความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อคำกล่าวที่ว่า “บางครั้งการคอรัปชั่นในรัฐบาลก็มีความจำเป็นเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้”นั้น พบว่า มีผู้ที่ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 75.2 (โดยระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 55.9 และไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 19.3) ส่วนผู้ที่เห็นด้วย ร้อยละ 8.5(ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 7.3 และเห็นด้วยมากที่สุด มีเพียงร้อยละ 1.2) อีกร้อยละ 16.3 ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นและการรับสินบนในการปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า ประชาชนร้อยละ 57.3 ระบุว่ามีการคอร์รัปชั่นและรับสินบนในการปกครองส่วนท้องถิ่น (โดยมีผู้ที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่บางคนคอร์รัปชั่น ร้อยละ 46.0 เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่คอร์รัปชั่น ร้อยละ 8.6 และเจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่นเกือบทุกคน ร้อยละ 2.7) และผู้ที่ระบุว่าแทบจะไม่มีใครเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น มีร้อยละ 15.4และไม่มีความเห็น ร้อยละ 27.3

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นและการรับสินบนในการปกครองระดับประเทศ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 68.0 ระบุว่ามีการคอร์รัปชั่นและการรับสินบนในการปกครองระดับประเทศ (โดยผู้ที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่บางคนคอรัปชั่น ร้อยละ 50.1 เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่คอร์รัปชั่น ร้อยละ 14.0 เจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่นเกือบทุกคน ร้อยละ 3.9) ส่วนผู้ที่ระบุว่าแทบจะไม่มีใครเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น มีเพียงร้อยละ 7.9 และอีกร้อยละ 24.1 ไม่มีความเห็น