ในขณะที่กำลังมีข่าวคราวเกี่ยวกับการจัดหาเรือดำน้ำของราชนาวีไทยทำให้เกิดความสนใจกำลังรบใต้น้ำกันอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าปัจจุบันใต้ท้องทะเลจีนใต้นั้น เหล่ากองเรือดำน้ำของกองทัพสมาชิกอาเซียน มีเขี้ยวเล็บและแสนยานุภาพอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในน่านน้ำทะเลจีนใต้มีความร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพลังงานจำนวนมหาศาลแล้ว ยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่มหาอำนาจและชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ต่างอ้างถึงกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของทั้งเหตุผลจากการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะและหลักฐานทางประวัติศาสตร์จนเกิดเป็นข้อพิพาทที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ทำให้ประเทศที่มีข้อพิพาทต่างเสริมสร้างแสนยานุภาพกันอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะแสนยานุภาพใต้ท้องทะเลจีนใต้ เพื่อหวังสร้างดุลอำนาจขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวการจับตามองแสนยานุภาพใต้ท้องทะเลจีนใต้ของกองทัพสมาชิกอาเซียน จะเริ่มต้นที่กองทัพเรือสิงคโปร์ ซึ่งเคยสร้างความฮือฮาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการสั่งซื้อเรือดำน้ำชั้น “ชาลเลนเจอร์”(Challenger) ที่ผ่านการใช้งานมาแล้วจำนวน ๔ ลำ จากสวีเดน เรือชั้นนี้มีระวางขับน้ำที่ผิวน้ำ ๑,๑๓๐ ตัน และมีระวางขับน้ำขณะอยู่ใต้ผิวน้ำ ๑,๒๐๐ ตัน โดยสั่งซื้อลำแรกในปี ค.ศ.๑๙๙๕ และอีก ๓ ลำ ในปี ค.ศ.๑๙๙๗ ทั้งนี้เรือดำน้ำทั้งหมดถูกออกแบบมาสำหรับกองทัพเรือสวีเดนเพื่อปฏิบัติภารกิจในทะเลบอลติคที่มีอากาศหนาวเย็น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงสมรรถนะภายใน เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพท้องทะเลในเขตร้อนที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

เรือดำน้ำลำแรกที่ได้ส่งมอบให้กับกองทัพเรือสิงคโปร์คือ เรืออาร์เอสเอสชาลเลนเจอร์ (RSS Challenger : RSS มาจากคำว่า Republic of Singapore Ship) เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.๑๙๙๗ เรือดำน้ำที่ส่องคือเรืออาร์เอสเอส คองเคอเรอร์ (RSS Conquerer) ขึ้นระวางประจำการในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.๒๐๐๑ ส่วนเรือดำน้ำลำที่สามคือ เรืออาร์เอสเอส เซนจูเรียน (RSS Centurion) ขึ้นระวางประจำการเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.๒๐๐๔สำหรับเรือดำน้ำลำสุดท้ายคือ เรืออาร์เอสเอสชีฟเทน (RSS Chieftain) ขึ้นระวางประจำการในเดือนสิงหาคม ค.ศ.๒๐๐๒ต่อมาสิงคโปร์ได้สั่งซื้อเรือดำน้ำที่ผ่านการใช้งานมาแล้วชั้น “อาร์เชอร์” (Archer)จากกองทัพเรือสวีเดนเพิ่มอีก ๒ ลำ เรือรุ่นนี้ปรับปรุงมาจากเรือดำน้ำชั้น “ฟาสเธอร์กอทลันด์”(Vastergotland) มีระวางนับน้ำ ที่ผิวน้ำ ๑,๔๐๐ ตัน และมีระวางขับน้ำขณะอยู่ใต้ผิวน้ำ ๑,๕๐๐ ตัน ประกอบด้วยเรืออาร์เอสเอส อาร์เชอร์ (RSS Archer) ขึ้นระวางประจำการในเดือนธันวาคม ค.ศ.๒๐๑๑ และเรืออาร์เอสเอส ซอร์ดส์แมน (RSS Swordsman) ขึ้นระวางประจำการในเดือนเมษายน ค.ศ.๒๐๑๓มีการปรับปรุงสมรรถนะใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพทะเลในเขตร้อนของเรือดำน้ำสองลำนี้จนอาจกล่าวได้ว่าทำให้เรือดำน้ำชั้น “อาร์เชอร์”กลายเป็นเรือดำน้ำที่มีความทันสมัยมากที่สุดรุ่นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรือดำน้ำทั้งหมดได้เข้าประจำการในกองเรือดำน้ำที่ ๑๗๑ (171st Squadron)การสั่งซื้อเรือดำน้ำอย่างขนานใหญ่นี้ทำให้ในปัจจุบันกองทัพเรือสิงคโปร์เป็นกองทัพเรือที่น่าเกรงขามที่สุดชาติหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนเพราะแม้เวียดนามจะสั่งซื้อเรือดำน้ำจำนวน ๖ ลำด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังได้รับเข้าประจำการไม่ครบจำนวนจนกว่าจะถึงปี ค.ศ.๒๐๑๘ปัจจุบันฐานทัพเรือของกองทัพเรือสิงคโปร์มีอยู่ ๒ แห่งคือ ฐานทัพเรือ ทูอาส (Tuas Naval Base : TNB) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะสิงคโปร์ เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.๑๙๙๔ แต่ด้วยความจำกัดของพื้นที่ทำให้มีท่าเทียบเรือที่มีความยาวเพียง ๘๕๐ เมตร นอกจากนี้เนื่องจากความขาดแคลนด้านกำลังพล ทำให้กองทัพเรือสิงคโปร์พยายามใช้ระบบเครื่องจักรอัตโนมัติในฐานทัพเรือแห่งนี้ให้มากที่สุดเท่าที่กระทำได้รวมทั้งยังมีอู่ลอยที่สามารถยกเรือขนาด๖๐๐ ตัน ขึ้นจากน้ำเพื่อทำการซ่อมแซม ปัจจุบันฐานทัพเรือแห่งนี้เป็นที่จอดเรือของกองเรือคอร์เวตติดอาวุธปล่อยนำวิถี, กองเรือตรวจการณ์และกองเรือกวาดทุ่นระเบิดนอกจากนี้ยังมีฐานทัพเรือ ชางงี (Changi Naval Base : CNB) เป็นฐานทัพเรือล่าสุด ของกองทัพเรือสิงคโปร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะสิงคโปร์ เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ค.ศ.๒๐๐๔ เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าเทียบท่าได้ และฐานทัพเรือแห่งนี้ยังเป็นจุดเทียบเรือของกองเรือที่ ๗ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิคที่ส่งเรือรบต่างๆ เช่น เรือยูเอสเอส ฟรีดอม (USS Freedom) ซึ่งมีความยาว ๓๘๘ ฟุต มีขนาดกะทัดรัดเหมาะกับการลัดเลาะไปตามเกาะแก่งต่างๆ ในทะเลจีนใต้ได้ เพื่อปฏิบัติภารกิจในการลาดตระเวนในทะเลจีนใต้เป็นระยะเวลา ๘ เดือนตามนโยบาย “ปรับสมดุลย์”(Rebalance) ของประธานาธิบดี บารักโอบามา (Barack Obama) แห่งสหรัฐอเมริกาโดยเรือยูเอสเอส ฟรีดอมและเรือต่างๆ ของสหรัฐฯ ได้ใช้ฐานทัพเรือชางงีเป็นจุดพักเรือเพื่อเติมน้ำมันและส่งกำลังบำรุงตลอดระยะเวลาที่ประจำการอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯและสิงคโปร์ในฐานะหุ้นส่วนด้านความมั่นคงส่งผลให้ฐานทัพเรือชางงีของสิงคโปร์กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งในเอเชียไปโดยปริยายทางด้านเวียดนามนั้น ได้ทำการสร้างแสนยานุภาพทางทะเลอย่างโดดเด่นและท้าทาย ด้วย

 

การสั่งซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซลชั้น “กิโล” (Kilo) จำนวน ๖ ลำ มูลค่ากว่า ๑,๘๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากรัสเซียเรือดำน้ำดังกล่าวนับเป็นเรือดำน้ำที่ทันสมัยที่สุดชนิดหนึ่งของรัสเซีย เนื่องจากมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลาย เรือดำน้ำลำแรกคือเรือ “ฮานอย” หมายเลขประจำเรือ เอชคิว-๑๘๒(HQ-182 Hanoi) มีการส่งมอบให้กับกองทัพเรือเวียดนามไปแล้วเมื่อปลายปี ค.ศ.๒๐๑๓และส่งมอบเรือดำน้ำลำที่สองคือ เรือ “โฮจิ มินห์ซิตี้” หมายเลข เอชคิว-๑๘๓ (HQ-183พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ Ho Chi Minh City) เมื่อต้นปี ค.ศ.๒๐๑๔ ที่ผ่านมา ต่อมามีการส่งมอบลำที่สามคือเรือ “ไฮ ฟอง” หมายเลข เอชคิว-๑๘๔ (HQ-184 Hai Phong) ในปลายปี ค.ศ.๒๐๑๔ และจะส่งมอบส่วนที่เหลือคือเรือดำน้ำ “ดา นัง” หมายเลขเอชคิว-๑๘๕ (HQ-185 Da Nang), “คานห์หัว” หมายเลข เอชคิว-๑๘๖ (HQ-186 Khanh Hoa) และ “บา เรีย-วัง เตา” หมายเลข เอชคิว-๑๘๗ (HQ-187 Ba Ria-Vung Tau) จนครบภายในเวลา ๒ ปีข้างหน้ายุทธศาสตร์ของเวียดนามคือการใช้เรือดำน้ำเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือน “เพชฌฆาตเงียบ” ปฏิบัติการอยู่ในบริเวณดินแดนข้อพิพาทใต้ท้องทะเลจีนใต้นั่นเอง เนื่องจากเรือดำน้ำชั้น “กิโล” นี้ติดอาวุธปล่อยนำวิถีที่มีขีดความสามารถในการทำลายเรือผิวน้ำ เรือดำน้ำและอากาศยานของข้าศึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เวียดนามกำลังร่วมมือกับรัสเซียทำการพัฒนาฐานทัพเรือที่อ่าว”คัมรานห์” หรือ “กาม แรงห์” (Cam Ranh) เพื่อใช้เป็นฐานทัพรองรับเรือดำน้ำทั้ง ๖ ลำอีกด้วย ซึ่งฐานทัพเรือดังกล่าวนี้สหรัฐฯ เคยใช้เป็นฐานทัพเรือในสมัยสงครามเวียดนามจึงมีอุปกรณ์ตลอดจนพื้นที่ที่เหมาะสมและไม่ต้องการการก่อสร้างหรือปรับปรุงมากมายเหมือนกับการก่อสร้างท่าเรือขึ้นใหม่สำหรับการฝึกกำลังพลประจำเรือดำน้ำและฝึกการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำนั้นนอกจากเวียดนามจะส่งกำลังพลไปทำการฝึกในประเทศรัสเซียแล้ว ยังใช้ความสัมพันธ์ทางด้านการทหารกับประเทศอินเดีย ซึ่งมีความกังวลต่อการขยายอิทธิพลทางทะเลของจีนมากพอสมควรเช่นเดียวกับเวียดนาม อีกทั้งกองทัพเรืออินเดียเองก็มีเรือดำน้ำชั้น “กิโล”ประจำการอยู่แล้ว โดยกำลังพลของเวียดนามถูกส่งไปทำการฝึกการปฏิบัติการรบด้วยเรือดำน้ำที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย การฝึกร่วมดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับจีนเป็นอย่างมาก โดยมีการแสดงออกทั้งคำพูดในการแถลงข่าว และการกระทำด้วยการส่งเรือรบของตนไปเผชิญหน้ากับเรือรบอินเดียที่ออกจากเมืองท่าของเวียดนาม ในทะเลจีนใต้เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.๒๐๑๓ ที่ผ่านมาเวียดนามยังเสริมเขี้ยวเล็บทางทะเลด้วยการจัดหาเรือฟริเกตขนาดเบาชั้น”เกพาร์ดส์” (Gepards) จำนวน ๔ ลำ ซึ่งมีระวางขับน้ำ ๒,๑๐๐ ตัน ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีแบบ “อูราน – อี” (Uran – E) พร้อมลานจอดเฮลิคอปเตอร์หนึ่งลาน ที่สำคัญคือเรือรุ่นนี้ใช้เทคโนโลยี “ล่องหน” หรือ “สเตลท์” (Stealth)ซึ่งจะทำให้การตรวจจับด้วยเรดาร์ของฝ่ายตรงข้ามเป็นไปได้อย่างยากลำบาก

 

อันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ดังกล่าวนี้มีไว้เพื่อ “การรุก” มากกว่าการตั้งรับ โดยเรือชั้น “เกพาร์ด” ๒ ลำแรกได้เข้าประจำการแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๑๒ และอีก ๒ ลำซึ่งมีการเพิ่มขีดความสามารถในการต่อต้านเรือดำน้ำ ก็จะถูกนำเข้าประจำการในไม่ช้านี้ทางด้านกองทัพเรืออินโดนีเซียได้สั่งต่อเรือดำน้ำชั้น “ชาง โบโก แบบ ๒๐๙”(Chang Bogo Class type 209) ระวางขับน้ำ ๑,๘๐๐ ตัน จากบริษัทแดวูของเกาหลีใต้จำนวน ๓ ลำ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.๒๐๑๒ จาเดิมที่มีประจำการอยู่แล้ว ๒ ลำ คือ เรือดำน้ำชั้น “จักกรา” (Chakkra) จากประเทศเยอรมัน ซึ่งตอนแรกนั้นอินโดนีเซียต้องการซื้อเรือดำน้ำชั้น “กิโล” (Kilo Class) จากรัสเซียเหมือนกับที่เวียดนามสั่งซื้อเข้าประจำการแต่เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่ามีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับสภาพภูมิประเทศท้องทะเลของประเทศ เพราะมีระวางขับน้ำถึง ๓,๐๐๐ ตันจึงหันมาสั่งเรือดำน้ำของเกาหลีใต้แทนเรือดังกล่าวสองลำจะต่อในเกาหลีใต้ โดยความร่วมมือระหว่างบริษัทแดวูและรัฐวิสาหกิจการต่อเรือของอินโดนีเซีย ส่วนเรือดำน้ำลำที่สามจะต่อที่อินโดนีเซียทั้งหมด อย่างไรก็ตามนิตยสารอาเซียน ดีเฟนซ์ ฟอรั่ม ระบุว่าอินโดนีเซียกำลังสนใจสั่งซื้อเรือดำน้ำดีเซลจากเยอรมันเพิ่มอีก ๓ ลำ นอกจากนี้ยังสั่งต่อเรือลำเลียงพลเพิ่มอีก ๔๘ ลำอีกด้วยล่าสุดประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี ค.ศ.๒๐๑๔ ที่ผ่านมาได้เปิดเผยว่าอินโดนีเซียได้กลับมาพิจารณาการจัดซื้อเรือดำน้ำชั้น “กิโล” รุ่นปรับปรุงใหม่จากโครงการ ๖๓๖ (Project 636) ของรัสเซีย ซึ่งเป็นโครงการเดียวกับเรือดำน้ำของเวียดนามอีกครั้ง เนื่องจากมีขีดความสามารถในการครองน่านน้ำและครองอากาศครบถ้วนยิ่งไปกว่านั้นเรือดำน้ำรุ่นที่อินโดนีเซียสนใจนั้น คาดว่าจะมีระบบโซน่าร์ที่ทันสมัยกว่าของเวียดนาม โดยเป็นการพัฒนาจากแบบเอ็มจีเค-๔๐๐ อี เป็นรุ่น เอ็มจีเค-๔๐๐ อีเอ็มรายงานข่าวคาดว่าอินโดนีเซียสนใจที่จะสั่งซื้อเป็นจำนวนถึง ๑๐ ลำเลยทีเดียวสำหรับมาเลเซียนั้นมีสั่งซื้ออาวุธขนานใหญ่มาระยะหนึ่งก่อนหน้านี้แล้ว แต่การสร้างแสนยานุภาพที่ถูกจับตามองเริ่มต้นในช่วงปี ค.ศ.๒๐๐๓ – ค.ศ.๒๐๑๑ เมื่องบประมาณทางทหารของมาเลเซียเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวคือจากเดิมในปี ค.ศ.๑๙๙๗ มาเลเซียใช้งบประมาณด้านกลาโหม จำนวน ๒,๔๙๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติ ทำให้มีการเพิ่มงบประมาณขึ้นเป็น๔,๐๕๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.๒๐๐๓ และยังคงใช้จ่ายอยู่ในระดับที่สูงเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน โดยในปี ค.ศ.๒๐๑๑ มาเลเซียมีการใช้จ่ายในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวน ๔,๒๒๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในลำดับที่ ๔ ของอาเซียน

 

เริ่มจากการที่กองทัพมาเลเซียสั่งซื้อเรือดำน้ำสกอร์ปีเน่ (Scorpene) จำนวน ๒ ลำ จากการร่วมผลิตของประเทศฝรั่งเศสและสเปน โดยตอนหน้าของตัวเรือผลิตที่อู่ต่อเรือ “ดีซีเอ็นเอส” (DCNS) ในเมือง “แชร์บูร์ก”(Charbourg) ของฝรั่งเศส ส่วนตอนหลังของลำเรือผลิตโดยบริษัท “นาวานเทีย” (Navantia)ที่เมือง “คาร์ทาจีน่า” (Cartagena) ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือที่รัฐบาลสเปนเป็นเจ้าของกิจการและนับเป็นบริษัทต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับห้าในยุโรปและเป็นอันดับเก้าในโลกเรือดำน้ำลำแรกคือ เรือดำน้ำ “เกเดตุนกู อับดุล ราห์มาน” (KD Tunku Abdul Rahman) ออกจากเมืองท่า “ตูลอง” (Toulon)ของฝรั่งเศส ใช้เวลาเดินทาง ๕๔ วันก็มาถึงมาเลเซียในเดือนกันยายน ค.ศ.๒๐๐๙ และเข้าประจำการในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง ส่วนเรือดำน้ำอีกลำหนึ่งคือเรือดำน้ำ”เกเด ตุนกู อับดุล ราซัก” (KD Tunku Abdul Razak) เดินทางมาถึงมาเลเซียในวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ.๒๐๑๐ สำหรับเรือดำน้ำทั้งสองลำนี้เป็นเรือดำน้ำพลังงานดีเซล มีระวางขับน้ำ๑,๖๐๐ ตัน ความยาว ๖๖.๔ เมตร ความเร็วที่ผิวน้ำ ๑๒ น็อต (๒๒ กิโลเมตรต่อชั่วโมง)ความเร็วขณะดำน้ำ ๒๐ น็อต (๓๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ดำน้ำได้ลึกกว่า ๓๐๐ เมตร ติดระบบอาวุธคือ ตอร์ปิโดนำวิถีแบบ “แบล็คชาร์ค” (Blackshark) ขนาด ๒๑ นิ้ว (๕๓๓ มิลลิเมตร) จำนวน ๖ ท่อยิง และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือจากใต้น้ำแบบ เอกโซเซต์เอสเอ็ม ๓๙ (Exocet SM39) ของฝรั่งเศส อาวุธปล่อยนำวิถีเอกโซเซต์รุ่นนี้คล้ายกับรุ่นเอ็มเอ็ม๔๐ (MM40) ซึ่งเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นเพื่อต่อต้านเรือผิวน้ำที่ติดตั้งบนเรือเร็วโจมตีชั้น “เปอร์ดานา” (Perdana Class) จำนวน ๔ ลำ ที่มาเลเซียสั่งต่อจากฝรั่งเศส และชั้น”ฮันดาลัน” (Handalan) จำนวน ๔ ลำ ที่สั่งต่อจากสวีเดน เพียงแต่ถูกออกแบบให้ยิงจากท่อส่งที่อยู่ภายในเรือดำน้ำใต้ท้องทะเลสำหรับฐานทัพเรือของราชนาวีมาเลเซียนั้นมีอยู่ทั้งหมด ๑๐ แห่งทั่วประเทศ ฐานทัพที่สำคัญประกอบด้วยฐานทัพเรือ “ลูมัท”(Lumut) ในรัฐเปรัก (Perak) ซึ่งถือว่าเป็น”บ้านของทหารเรือ” (Home of Navy) หรือเป็นกองบัญชาการแห่งราชนาวีมาเลเซีย ได้รับการยอมรับว่าเป็นฐานทัพเรือที่มีความทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือขนาดใหญ่,ท่าเทียบเรือขนาดเล็ก, พิพิธภัณฑ์, สำนักงาน,สนามกีฬาและศูนย์ฝึกทหารใหม่ฐานทัพเรือแห่งนี้มีกำลังพลประจำการกว่า ๒๕,๐๐๐ คนนอกจากนี้ยังมีฐานทัพเรือ “ตันจุง เกลัง” (Tunjung Gelang) ในรัฐ “ปะหัง” (Pahang) เป็นกองบัญชาการของกองเรือภาคที่ ๑ หรือ “มาวิลล่า ซาตู” (Mawilla I) เป็นท่าเทียบเรือที่มีขีดความสามารถในการรับเรือได้ ๖ ลำมีพื้นที่ปฏิบัติการครอบคลุมชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของมาเลเซีย และเป็นฐานที่ทำให้เรือรบของราชนาวีมาเลเซียสามารถเคลื่อนกำลังเข้าสู่ทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิคได้รวมทั้งมีฐานทัพเรือ “เซปังการ์”(Sepanggar) ในรัฐซาบาห์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองเรือภาคที่ ๒ หรือ “มาวิลล่า ดัว”(Mawilla II) เป็นฐานทัพเรือดำน้ำที่เรือดำน้ำ เกเด ตุนกู อับดุล ราห์มาน และเรือดำน้ำเกเด ตุนกู อับดุล ราซัค จอดเทียบท่าประจำการอยู่ และเป็นฐานทัพเรือที่ติดกับพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้คือ หมู่เกาะสแปรตลีที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างแสนยานุภาพใต้ท้องทะเลจีนใต้ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ยืนยันข้อสนับสนุนที่ว่า การเสริมสร้างกำลังทางเรือด้วยการจัดหาเรือดำน้ำนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน ส่วนจะเป็นเรือรุ่นใด และมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใดก็จะเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาข้อสรุปต่อไป