พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ นี้ เป็นกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ และศีลธรรมอันดี ตลอดจนไม่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นหรือความสะดวกของประชาชนอื่นที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมในการที่จะใช้ที่สาธารณะนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงได้วางหลักในการชุมนุมสาธารณะว่าจะต้องเป็นการชุมนุมสาธารณะโดยสงบปราศจากอาวุธ และต้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้ ได้กำหนดสถานที่ที่ห้ามจัดการชุมนุม เช่น ระยะห่าง ๑๕๐ เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง เป็นต้นซึ่งเป็นสถานที่ห้ามจัดการชุมนุมเด็ดขาดและยังได้กำหนดให้สถานที่ราชการบางแห่งคือทำเนียบรัฐบาล รัฐสภาและศาลซึ่งรวมถึงศาลทหารด้วย เป็นสถานที่ที่ห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะเช่นกัน และห้ามการชุมนุมสาธารณะที่จะไปกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานและการให้บริการของสถานที่บางแห่งไว้ เช่น สถานที่ทำงานของหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน หรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา หรือสถานทูต เป็นต้น และกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะจะต้องแจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่ที่จะชุมนุมสาธารณะทราบก่อนการชุมนุม ไม่น้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมง หรือถ้าแจ้งไม่ทันกำหนดดังกล่าวก็แจ้งน้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมงก็ได้ โดยจะต้องยื่นคำขอผ่อนผันด้วย ซึ่งการแจ้งโดยขอผ่อนผันนี้จะต้องแจ้งก่อนการชุมนุมและให้แจ้งต่อผู้บังคับการตำรวจไม่ใช่หัวหน้าสถานีตำรวจ โดยในการแจ้งการชุมนุมนั้น ผู้แจ้งจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการชุมนุมสาธารณะวัน ระยะเวลา และสถานที่ที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะให้หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะทราบด้วย และเมื่อมีการแจ้งการชุมนุมแล้วหากผู้รับแจ้งเห็นว่าการชุมนุมเป็นการจัดการชุมนุมในที่ห้ามจัดการชุมนุมดังกล่าวข้างต้น หรือ อาจกีดขวางทางเข้าออกของสถานที่ราชการที่ให้บริการประชาชนเป็นต้น ก็ให้ผู้รับแจ้งดำเนินการแจ้งให้ผู้จัดการชุมนุมให้แก้ไขก่อน ถ้าผู้จัดการชุมนุมไม่แก้ไขผู้รับแจ้งจึงจะสั่งห้ามได้ ถ้าผู้จัดการชุมนุมไม่เห็นด้วยกับคำสั่งห้ามชุมนุมดังกล่าวให้อุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาของผู้รับแจ้งและให้ผู้บังคับบัญชาที่รับอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง และในระหว่างอุทธรณ์นั้นห้ามจัดการชุมนุม หากฝ่าฝืนถือเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีโทษตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา๑๐ – ๑๔) ตามพระราชบัญญัตินี้ยังได้กำหนดหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุม และผู้ชุมนุมที่ต้องปฏิบัติในระหว่างการชุมนุม เช่น ให้ผู้จัดการชุมนุมต้องอยู่ร่วมการชุมนุมตลอดการชุมนุมห้ามปราศรัยหรือใช้เครื่องขยายเสียงหรือการจัดกิจกรรมในการชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา จนถึงเวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น และห้ามการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมในเวลากลางคืนเป็นต้น ส่วนผู้ร่วมชุมนุมมีหน้าที่ เช่น การไม่ปิดบังหรืออำพรางตน ไม่ใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่น และไม่ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เป็นต้นสำหรับการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปตามกฎหมายนี้ ซึ่งในการดูแลการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะอาจร้องขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องที่ที่มีการชุมนุมดำเนินการต่างๆ ได้ภายในขอบอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เช่น อาจขอให้รถสุขามาบริการให้ผู้ชุมนุมสาธารณะ เป็นต้นการชุมนุมสาธารณะที่ผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้จัดการชุมนุม หรือผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแล้วข้างต้น รวมทั้งการชุมนุมสาธารณะที่ไม่เลิกตามระยะเวลาที่แจ้งไว้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นเจ้าพนักงานในเรื่องนี้ยุติการชุมนุม โดยมีขั้นตอนคือให้มีการประกาศให้เลิกการชุมนุมก่อน ถ้าผู้ชุมนุมสาธารณะไม่ยอมเลิกก็ให้เจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดในท้องที่ที่มีการชุมนุมสั่งให้ยุติการชุมนุมได้และในระหว่างรอคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามแผนหรือแนวทางตามที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ให้ใช้ได้เท่าที่จำเป็น (มาตรา ๒๑) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศคำสั่งศาลในที่ที่เห็นได้ง่าย หากผู้ชุมนุมยังไม่ยอมเลิกการชุมนุมให้เจ้าพนักงานที่ดูแลการชุมนุมรายงานให้ศาลทราบ และประกาศกำหนดให้พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ควบคุมและให้ผู้ชุมนุมออกไปจากพื้นที่ดังกล่าวภายในเวลา และห้ามบุคคลใดๆ เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งให้รายงานเหตุการณ์ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนี้ทราบ และนายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่น หรืออาจจะเป็นผู้อื่นเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์เพื่อให้มีการเลิกการชุมนุมตามคำสั่งศาล และเมื่อครบระยะเวลาตามที่ประกาศไว้หากผู้ชุมนุมยังไม่ยอมออกจากพื้นที่ควบคุมก็ให้ถือว่าเป็นความผิดซึ่งตามกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ที่อยู่ในพื้นที่ได้ รวมทั้งมีอำนาจตรวจค้น ยึด อายัด และรื้อถอนทรัพย์สินของผู้ชุมนุมในที่ชุมนุมสาธารณะได้และในการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัตินี้ในมาตรา ๑๙ กำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะสามารถร้องขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะดำเนินการช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะได้ตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกร้องขอนั้นๆ ซึ่งทหารอาจถูกร้องขอจากเจ้าพนักงานตามมาตรานี้ได้ เช่น เจ้าพนักงานที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะอาจร้องขอให้หน่วยทหารที่อยู่ในพื้นที่ช่วยจัดยานพาหนะของหน่วยเพื่อขนย้ายผู้ชุมนุมได้