การที่คณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นลงมติตีความมาตรา ๙ แห่งรัฐธรรมนูญของประเทศ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ภายใต้การผลักดันของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (JSDF : Japanese Self-defense Forces) ในการใช้กำลังรบเข้า “โจมตี” หรือทำสงครามกับประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีลักษณะเป็น “ภัยคุกคามอย่างชัดเจน” ต่อความอยู่รอดของประเทศ และเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพในการดำรงชีวิตตามปกติของประชาชนชาวญี่ปุ่น ทั้งนี้มีเงื่อนไขอยู่ว่าการโจมตีดังกล่าว จะต้องเป็นหนทางเลือกสุดท้ายภายหลังจากพยายามปกป้องประเทศมาอย่างเต็มความสามารถแล้ว อีกทั้งการใช้กำลังรบดังกล่าวนั้น จะต้องใช้อย่างจำกัดในระดับที่ต่ำที่สุดเท่านั้น ความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในครั้งนี้ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะในห้วงเวลาที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประสบปัญหาอย่างมากเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตนเองกับจีน ตลอดจนพฤติกรรมคุกคามจากเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาข้อพิพาทเหนือหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku) หรือที่จีนเรียกว่า “เตียวหยี” (Diaoyu) ที่ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ากันหลายครั้ง จนกระทั่งรัฐบาลญี่ปุ่นต้องเพิ่มแสนยานุภาพทางการทหารมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับการแผ่ขยายแสนยานุภาพของจีนที่กำลังกลายเป็นความวิตกกังวลในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิคมากขึ้นเรื่อย ๆ

lm 283 (24)

การขยายแสนยานุภาพดังกล่าวส่งผลให้ญี่ปุ่นมีการใช้งบประมาณทางทหารสูงที่สุดเป็นอันดับ ๕ ของโลกหรือประมาณ ๑.๘ ล้านล้านบาท รองมาจากสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซียและอังกฤษเท่านั้น และทำให้กองทัพญี่ปุ่นหรือ “กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น” มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดชาติหนึ่งในเอเชีย ซึ่งการสร้างกองทัพญี่ปุ่นในครั้งนี้ได้กระทำควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นแหล่งเงินทุนจำนวนมหาศาลในการพัฒนากองทัพนั่นเอง จนกระทั่งเมื่อนายชินโซ อาเบะ ได้รับการเลือกตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาก็สานต่อนโยบายการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกองทัพ ด้วย

lm 283 (23)การนำนโยบาย “ฟูโกกุ เคียวเฮ” (富国強兵: Fukoku Kyohei : Fu = รุ่งเรือง, koku =ประเทศ, kyo = แข็งแรง, hei = ทหาร) หรือ “ประเทศรุ่งเรือง กองทัพแข็งแกร่ง” ในสมัยราชวงศ์เมจิที่เคยสร้างญี่ปุ่นจนกลายเป็นมหาอำนาจในอดีตกลับมาใช้ในการบริหารประเทศอีกครั้ง อันที่จริงแล้ว นโยบาย “ฟูโกกุ เคียวเฮ” นั้น มีรากฐานมาจากนโยบายของจีนโบราณในสมัยราชวงศ์ “ฉิน” หรือ “จิ๋น” (Qin) ช่วงปี พ.ศ.๓๒๓ ถึง พ.ศ.๓๓๘ เพื่อใช้ในการรวมประเทศและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับแผ่นดินจีน โดยเฉพาะในยคุ ของมหาจกั รพรรดิ“ฉินสื่อหวงตี้” หรือ “จิ๋นซีฮ่องเต้” อันเกรียงไกร ผู้สร้างกำแพงเมืองจีน ต่อมาเมื่อจักรพรรดิ์ “มุสึฮิโตะ” หรือจักรพรรดิเมจิแห่งราชวงศ์เมจิของญี่ปุ่นขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ พระองค์ก็ได้นำนโยบายดังกล่าวมาใช้พัฒนาประเทศญี่ปุ่นให้ก้าวไปสู่ความเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมและมหาอำนาจทางทหาร จนกลายเป็น “จักรวรรดิ์ญี่ปุ่น” อันยิ่งใหญ่ ก่อนที่จะล่มสลายลงภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงพัฒนาเศรษฐกิจของตนอย่างไม่หยุดยั้ง และพัฒนากองทัพให้เข้มแข็งตามนโยบาย “ฟูโกกุ เคียวเฮ” โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจนั้น แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะมีความยิ่งใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองลงมาจากสหรัฐอเมริกาและจีนก็ตามแต่ญี่ปุ่นก็ประสบปัญหานานัปการ ทั้งจากสภาวะเงินฝืด และสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะก็ได้ประกาศนโยบาย “อาเบะโนมิคส์” ขึ้น (Abenomics: เป็นคำผสมระหว่าง Abe และ Economics) เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านนโยบายการเงินการคลังหลายรูปแบบ เช่นส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนที่ซบเซามานานเกือบยี่สิบปี การออกมาตรการให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลง รวมถึงการทุ่มเม็ดเงินในการลงทุนของภาครัฐเพื่อหวังกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ.๒๕๕๖ นโยบายนี้ดูจะประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะสามารถกระตุ้นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากเดิม๓.๖% เป็น ๔.๕% และค่าเงินเยนอ่อนตัวลงถึง ๒๕% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา แต่อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงกลางปี พ.ศ.๒๕๕๗ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ยังไม่เพิ่มมากขึ้นเท่าที่ควรจะเป็น ทำให้ต้องจับตามองกันต่อไปว่านายชินโซ อาเบะ จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใดมาแก้ไขปัญหาในครั้งนี้อีกลักษณะรูปแบบการลงทุนของญี่ปุ่นนั้นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือการกระจายฐานการผลิตของตนให้ทั่วทั้งภูมิภาค เช่น การลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นักลงทุนญี่ปุ่นจะสร้างเครือข่ายของโรงงานอุตสาหกรรมขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัท “ยาซากิ” (Yasaki Corp) ทุ่มลงทุน ๒๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สร้างโรงงานผลิตส่วนประกอบรถยนต์ในจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา จากนั้นก็จะส่งชิ้นส่วนเหล่านี้มาประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปที่โรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยและอินโดนีเซีย เป็นต้น การลงทุนในลักษณะนี้ส่งผลให้เกิดการพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในคาบสมุทรอินโดจีน ในทางกลับกันก็เป็นการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงตามแนวทางของญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างจากเกาหลีใต้, จีน, สหรัฐฯ และยุโรปที่มุ่งลงทุนในแต่ละประเทศแยกออกจากกัน โดยอิสระอย่างไรก็ตามการลงทุนของญี่ปุ่นต้องเผชิญกับคู่แข่งที่สำคัญคือ จีน ที่ทุ่มการลงทุนอย่างมหาศาลในพื้นที่เดียวกัน เช่น ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ บริษัทโตโย เอ็นจิเนียร์ (TOYO Engineer) ของญี่ปุ่นได้ยื่นขอสัมปทานโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกในกัมพูชา ก่อนที่จะพ่ายแพ้ต่อบริษัท “ซิโนแมช” (SINOMACH) ของจีนที่ได้รับเลือกจากกัมพูชาให้เป็นผู้ก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันมูลค่า ๒.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังกล่าวไปในปีต่อมา เป็นต้น ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการลงทุนของจีนในประเทศลาวและกัมพูชา ล้วนแต่เป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลแทบทั้งสิ้น ทั้งการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ การเกษตรและการทำเหมืองแร่ นอกจากนี้จีนยังมีนโยบายด้านการลงทุนคล้ายคลึงกับญี่ปุ่น ด้วยการให้ทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งสาธารณูปโภคในประเทศที่ตนจะเข้าไปลงทุน เช่น การลงทุนก่อสร้างถนนสายสำคัญในประเทศกัมพูชาเป็นต้น การลงทุนดังกล่าวทำให้จีนได้กลายเป็นประเทศที่เอื้อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อลาวและกัมพูชามากที่สุดประเทศหนึ่งเช่นเดียวกับญี่ปุ่น

การต่อสู้ทางเศรษฐกิจที่ดุเดือดดังกล่าวข้างต้น ทำให้ญี่ปุ่นพยายามหยุดยั้งการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนด้วยการเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาใน “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค” หรือ ทีพีพี (TPP : Trans-Pacific Partnership) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง เพื่อการบูรณาการด้านต่าง ๆเช่น การบริการ การลงทุน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่รวบรวมประเทศสมาชิกต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อถ่วงดุลด้านเศรษฐกิจกับจีน ส่วนมาตรการดังกล่าวนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นคงต้องติดตามกันต่อไปในอนาคต

lm 283 (9)

สำหรับการเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพญี่ปุ่นตามนโยบาย “ฟูโกกุ เคียวเฮ” นั้น นอกจากจะได้มีการเพิ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลมาระยะหนึ่งแล้วดังที่กล่าวข้างต้นจนงบประมาณด้านการป้องกันประเทศในปี พ.ศ.๒๕๕๖ เพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ๑๑ ปี เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นมีความได้เปรียบในการเสริมสร้างแสนยานุภาพของตนเองคือ การมีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีระดับสูง จนสามารถทำการวิจัยค้นคว้าและผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีคุณภาพขึ้นใช้เองได้ในทุกระดับ ตั้งแต่อาวุธปืนเล็กยาวไปจนถึงรถถัง ยานเกราะ เครื่องบินรบ ขีปนาวุธนำวิถี เรือดำน้ำและเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นต้น

การใช้จ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาลของญี่ปุ่นนี้ ได้ถูกนำไปใช้ในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงสุด เช่นการสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ยุคที่ ๕ (5th Generation) แบบ เอฟ-๓๕ ไลท์นิ่ง ๒ (F-35 Lighting II) จากบริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ของสหรัฐอเมริกาจำนวนอย่างน้อย ๕๐ ลำ โดยเครื่องบินรุ่นนี้เป็นเครื่องบินรบที่ใช้เทคโนโลยี “ล่องหน” (Stealth) ที่มีราคาแพงที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงที่สุดเท่าที่โลกเคยสร้างมา ญี่ปุ่นสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ครั้งแรกจำนวน ๔๒ ลำ และจะมีการส่งมอบในปี พ.ศ.๒๕๕๙ นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีระบบต่อต้านขีปนาวุธข้ามทวีป “บีเอ็มดี” (BMD : Ballistic Missile Defence) อันทรงอานุภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งขีปนาวุธนำวิถีด้วยความร้อนแบบ สแตนดาร์ด เอสเอ็ม-๓ (Standard SM-3) ที่เป็นระบบต่อต้านขีปนาวุธข้ามทวีปและต่อต้านอากาศยานระดับกลาง ติดตั้งบนเรือรบต่าง ๆ เช่น เรือรบ “คองโกะ” (Congo)และเรือรบ “เมียวโกะ” (Myoko) เป็นต้น ส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถปกป้องน่านฟ้าของตนเองจากเครื่องบินรบและขีปนาวุธนำวิถีติดหัวรบนิวเคลียร์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

lm 283 (10)
สิ่งที่น่าจับตามองคือเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้นำเรือบรรทุกเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Carrier) ชื่อ “อิซูโมะ” (Izumo) เข้าประจำการ เรือนี้มีระวางขับน้ำถึง ๑๙,๘๐๐ ตัน ทำให้กลายเป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ทางทหารของจีนมองว่าเรือบรรทุกเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ทุกลำของญี่ปุ่นสามารถใช้สำหรับบรรทุกเครื่องบินขับไล่ขึ้นลงทางดิ่ง (STOVL : Standard Take-Off and Vertical Landing) แบบ เอฟ-๓๕ ได้และเป็นภัยคุกคามในการแผ่ขยายแสนยานุภาพของกองทัพเรือจีนในมหาสมุทรแปซิฟิคอย่าง
ไม่ต้องสงสัย

lm 283 (25)แม้ว่าการประกาศหวนคืนสู่ความแข็งแกร่งทางด้านการทหารของญี่ปุ่นตามนโยบาย “ฟูโกกุ เคียวเฮ” จะถูกท้วงติงจากเกาหลีใต้และจีน ตลอดจนประชาชนบางส่วนของญี่ปุ่น แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่จีนได้กลายเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค โดยเฉพาะปัญหาข้อพิพาทเหนือดินแดนหมู่เกาะสแปรตลี (Spartly Islands)ในทะเลจีนใต้ ก็ได้ทำให้เสียงท้วงติงเหล่านั้นขาดน้ำหนักและแผ่วเบาลงอย่างมาก ในทางตรงกันข้ามกลับส่งผลให้เกิดกระแสตอบรับในทางบวกจากประเทศคู่ขัดแย้งกับจีนอีกด้วย ดังที่นิตยสาร “ไทม์” (Time) ฉบับวันที่๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ระบุว่า นับตั้งแต่จีนก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจและแสดงบทบาทเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ทำให้ชาวฟิลิปปินส์กว่าร้อยละ ๘๐ หันกลับมามองญี่ปุ่นในแง่บวก เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่พร้อมที่จะต้อนรับการหวนกลับมาสู่ความเป็นมหาอำนาจทางทหารของญี่ปุ่นจนนางคลาริต้า คาร์ลอส (Clarita Carlos)อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันประเทศของฟิลิปปินส์ได้แสดงความคิดเห็นว่า “.. ญี่ปุ่นมีสิทธิในทุกๆ ด้านที่จะพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการทหาร อันเป็นผลเนื่องมาจากการยั่วยุ (provocation) ของจีน .. จีนมักจะแสดงบทบาทว่าพวกเราเคยถูกรุกรานกดขี่และปกครองโดยญี่ปุ่น ถึงแม้ทุกคนยังจำสิ่งเหล่านั้นได้ดี แต่พวกเราก็เรียนรู้วิธีที่จะยกโทษ (forgive) ให้กับญี่ปุ่น ..”

lm 283 (26)ปัจจุบันนโยบาย “ฟูโกกุ เคียวเฮ” ของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ กำลังผลิดอก ออกผลอย่างเห็นได้ชัด การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลายเป็นสิ่งที่อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ในขณะเดียวกันการสร้างแสนยานุภาพทางทหารครั้งใหม่ก็ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ที่หวั่นเกรงการขยายอิทธิพลของจีนสิ่งที่ต้องจับตามองก็คือ การฟื้นตัวของกองทัพลูกพระอาทิตย์ในครั้งนี้ จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคเช่นเดียวกับจีนหรือไม่ เพราะแม้ว่านายอิตซูโนริโอโนเดระ (Itsunori Onodera) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นจะได้ประกาศยืนยันอย่างชัดเจนว่า “.. จุดมุ่งหมายของญี่ปุ่นในครั้งนี้คือ การมีส่วนร่วมในเชิงสร้างสรรค์ในการนำภูมิภาคแห่งนี้ไปสู่ความสงบ ..” ก็ตามแต่ภาพแห่งความหายนะที่กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างไว้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ยังเป็นสิ่งฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของมวลมนุษยชาติอย่างไม่รู้ลืม ดังนั้นโลกคงต้องติดตามต่อไปว่า ญี่ปุ่นจะยึดมั่นในคำสัญญาเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด