284-28

อาคารศาลาว่าการกลาโหม ที่ตั้งตระหง่านทอดยาวอยู่เคียงข้างพระบรมมหาราชวัง และเป็นอาคารโบราณที่ก่ออิฐถือปูนอยู่เคียงคู่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นเวลาถึง ๑๓๐ ปี (ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๗) หากพิจารณาจากรูปแบบในเชิงสถาปัตยกรรมแล้วจะพบว่าอาคารศาลาว่าการกลาโหม เป็นอาคารที่มีลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิค(Classicism) ในรูปแบบของสถาปนิกแอนเดรีย พาลลาดิโอ ที่เรียกว่า ศิลปะแบบพาลลาเดียน (Palladianism) ซึ่งมีความชัดเจนมากคือ มีลักษณะผังรูปแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบสนามไว้ภายใน ทั้งนี้ เพราะทำให้อาคารสามารถรับแสงสว่างได้ดี โดยลักษณะทางกายภาพของอาคารจะเห็นได้ว่าเป็นอาคารขนาดสูง ๓ ชั้น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแคบยาว ๔ หลังต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ล้อมรอบสนามขนาดใหญ่ที่มีอยู่ภายใน โดยสีของอาคารเป็นสีไข่ไก่ขั้นด้วยขอบเสาที่มีสีขาว ทั้งนี้ ขนาดของอาคารจากการบันทึกทราบว่าเป็นอาคารที่มีความยาว ๕ เส้น และกว้าง ๓ เส้น ๑๐ วา โดยจุดเด่นทางสถาปัตยกรรมของอาคารศาลาว่าการกลาโหมนี้อยู่ที่มุขกลาง ที่มีลักษณะเป็นอาคารผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาจั่วแบบวิหารกรีก โดยเฉพาะหน้าจั่วนี้มีบัวปูนปั้นยื่นออกมาเป็นไขรา(ส่วนของหลังคาที่ยื่นจากฝาหรือจั่วออกไป) ที่รับด้วยเต้าสั้น ๆ แบบสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิค ซึ่งบริเวณใต้จั่วจัดท?ำเป็นโครงสร้างคานโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่อง ๕ ช่วง และชั้นล่างเป็นเสาลอยตัวหน้าตัดกลมขนาดใหญ่สูง ๒ ชั้น ตั้งอยู่บนฐานเสาสูง ๖ ต้น ในระบบดอริค(Doric) ก่อขึ้นมารับมุขโครงสร้างคานโค้งของชั้นที่สามที่ยื่นมาจากแนวตึก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษของอาคารศาลาว่าการกลาโหมและถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์อันเป็นมงคลของมวลหมู่ทหารทุกเหล่า ทุกนาย ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม คือ ตราสัญลักษณ์พระราชทานขององค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้แก่กระทรวงกลาโหม โดยให้ประดิษฐาน ณ หน้าบันของมุขกลางอาคารโรงทหารหน้าหรืออาคารศาลาว่าการกลาโหม ที่มีลักษณะเป็นรูปจุลมงกุฎบนหมอนแพรภายใต้รัศมีเปล่งรองรับด้วยช้างสามเศียรยืนบนแท่นสอดในจักร ขนาบด้วยคชสีห์และราชสีห์เชิญพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรด้านขวาและด้านซ้าย เหนือชายแพรทาสีม่วงคราม มีอักษรบาลีว่า วิเชตฺวา พลตาภูปํ รฏฺเฐสาเธตุ วุฑฺฒิโย ประดับด้วยช่อดอกไม้ โดยมีรายละเอียดและ
ความหมาย ดังนี้284-24

๑) ตราจุลมงกุฎบนหมอนแพรปิดทองหมายถึง ศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เพราะ พระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น คือ “จุฬาลงกรณ์” ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือ จุลมงกุฎ (พระเกี้ยว) ซึ่งต่อมาได้อัญเชิญตราจุลมงกุฎปิดทองอยู่บนหมอนแพรสีชมพูขึ้นเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ทั้งนี้จากการสืบค้นข้อมูลทราบว่า พระราชลัญจกรประจำพระองค์ มีลักษณะเป็นจุลมงกุฎภายใต้รัศมีเปล่งสีทองประดิษฐานบนหมอนแพรสีชมพู (ซึ่งเป็นสีแห่งวันพระราชสมภพ) โดยมีลักษณะ ดังปรากฏในภาพ

 

๒) รัศมีเปล่งเหนือจุลมงกุฎ หมายถึงพระบรมเดชานุภาพที่แผ่ไกลไปทั่วทุกทิศในคติการปกครองแบบราชาธิปไตย
๓) ช้างสามเศียรยืนแท่นในกรอบ หมายถึง ตราสัญลักษณ์ของสยามประเทศ
284-29๔) จักร หมายถึง ราชวงศ์จักรี ทั้งนี้มีการบันทึกและมีการทำสัญลักษณ์ไว้บนผืนธง ดังนี้ ซึ่งมีการกล่าวกันมากในเรื่องของจักรว่าจักรจะต้องเวียนตามเข็มนาฬิกา หรือเวียนทวนเข็มนาฬิกา ที่ถูกต้องแล้ว มีการถือคติว่าเป็นจักรของราชวงศ์จักรีเป็นจักรของพระนารายณ์ที่ต้องเวียนในลักษณะทักขิณาวัฏ คือ ตามเข็มนาฬิกาโดยให้คมจักรเป็นตัวนำทิศทางดังปรากฏในภาพ
๕) คชสีห์เชิญพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรหมายถึง กลาโหมซึ่งเป็นใหญ่ฝ่ายทหาร

 

๖) ราชสีห์เชิญพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรหมายถึง มหาดไทยซึ่งเป็นใหญ่ฝ่ายพลเรือน
284-32๗) พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร ๙ ชั้น) หมายถึง ฉัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระราชพิธีบรมราชภิเษก
ตามโบราณราชประเพณี

 

๘) ชายแพรทาสีม่วงคราม หมายถึง สายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ซึ่งมีนัยว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำรุงถึงสกุลวงศ์ ผู้มีบำเหน็จความชอบในบ้านเมืองให้สามัคคีช่วยกันในบ้านเมือง
๙) ช่อดอกไม้ หมายถึง ความรุ่งเรืองงอกงามซึ่งสัญลักษณ์นี้ปรากฏในสายสร้อยปฐมจุลจอมเกล้า ห้อยดวงตราจุลจอมเกล้า ซึ่งแตกต่างกันตรงที่สายสร้อยไม่ประดับจักรจึงสันนิษฐานไว้ว่า ตราสัญลักษณ์นี้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อหน่วยทหารในฐานะเป็นหน่วยงานที่พิทักษ์รักษาราชวงศ์จักรี

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีความสำคัญและถือเป็นมิ่งมงคลของกระทรวงกลาโหม คือ คาถาประจำกระทรวงหลาโหมที่มีความในภาษาบาลีว่า เชตฺวา พลตา ภูปํ รฏฺเฐ สาเธตุ วุฑฺฒิโย อ่านว่า วิเชตตะวา พะละตาภูปัง รัฏฺเฐ สาเธตุ วุฑฒิโย มีความหมายว่า ขอให้พระมหากษัตริย์เจ้า พร้อมด้วยปวงทหารจงมีชัยชนะยังความเจริญให้สำเร็จในแผ่นดิน ซึ่งเป็นคาถาที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคัดเลือกจากคาถา ๑ ในจำนวน ๔ บท ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ทรงผูกถวายให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี: เจิม แสง-ชูโต) นำขึ้นกราบบังคมทูลเกล้า ฯถวายเพื่อทรงเลือกไว้เป็นคาถา ถือว่าเป็นคาถาที่เป็นมิ่งมงคลแก่หน่วยทหารและเป็นมงคลแห่งแผ่นดิน

ซึ่งในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นำสัญลักษณ์ประจำกระทรวงกลาโหมนี้ มาประดับบนกระเป๋าคันชีพประกอบเครื่องแบบเต็มยศประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์หลายหน่วย และให้ประดับไว้บนแหนบคันชีพสำหรับพระราชทานให้แก่ทหารหาญและผู้ทำประโยชน์แก่หน่วยทหารรักษาพระองค์ที่สำคัญหน่วยหนึ่งคือ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ และล่าสุดกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้ทูลเกล้า ฯ ขอพระราชทานสัญลักษณ์นี้ทำเป็นเข็มสำหรับประดับเครื่องแบบทหารสำหรับทหารหน่วยกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ อีกด้วย

จึงกล่าวได้ว่า สัญลักษณ์และคาถาประจำกระทรวงกลาโหม เป็นสิ่งส?ำคัญที่มีความสำคัญต่อทหารหาญทุกคนเพราะเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานจากองค์จอมทัพไทย ทั้งยังมีความหมายและเนื้อหาที่บ่งบอกให้ทหารทุกคนทราบถึงภาระหน้าที่อันสำคัญในการถวายงานแด่องค์พระมหากษัตริย์ในการยังความเจริญให้แก่แผ่นดินและประสบชัยชนะในการกระทำทุกสรรพกิจ โดยเฉพาะ สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจมากที่สุขของทหารทุกคนคือได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาทและสนองงานขององค์จอมทัพไทยอย่างเต็มกำลังความสามารถในทุกภารกิจ สมกับที่ได้รับอาณัติจากพี่น้องประชาชนว่าเป็น ทหารของพระเจ้าอยู่หัว ตลอดกาล

 

  • พลตรี ชัยวิทย์ ชยาภินันท์